• สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคค่ำ) ประจำวันที่ 10 พฤษภาคม 2562

    10 พฤษภาคม 2562 | Economic News

· ค่าเงินยูโรแข็งค่าและมีโอกาสจะปิดตลาดสัปดาห์นี้ในแดนบวกติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 2 ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ว่า ผลกระทบที่เกิดจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ อาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯได้รับผลกระทบ และเพิ่มโอกาสที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย

โดยค่าเงินยูโรแข็งค่า 0.1% บริเวณ 1.1220 ดอลลาร์/ยูโร ขณะที่ดัชนีดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยที่บริเวณ 97.43 จุด

ทั้งนี้ ความขัดแย้งทางการค้าในช่วงสัปดาห์นี้ ดูจะไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดค่าเงินมากนัก ขณะที่ค่าเงินเยนที่เป็น Safe-haven ก็แข็งค่าขึ้นมาได้เพียง 1.2% ในภาพรวมรายสัปดาห์เท่านั้น และมาตรวัดความผันผวนของตลาดส่วนใหญ่ต่างเคลื่อนไหวเบาบาง แม้จะมีการปรับสูงขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์นี้ได้บ้างก็ตาม

· ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงต่ำกว่า 0.7 เหรียญ หลังจากที่ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ทำการหั่นคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจในวันนี้ และถือว่า Trade War ไม่ใช่ข่าวดีสำหรับค่าเงินออสเตรเลียเท่าไรห่นัก โดย RBA มองว่าจีีดีพีช่วง 12 เดือนในเดือนมิ.ย. จะขยายตัวได้ 1.75% เมื่อเทียบกับคาดการณ์ก่อนหน้า 2.25% ขณะที่ภาพรวมระยะยาวจนถึงเดือนธ.ค. ปรับลดลงสู่ 2.75% จากคาดเดิมที่ 3.0%

ค่าเงินยูโรยังเคลื่อนไหวในแดนบวก แม้สหรัฐฯจะประกาศขึ้นภาษีจีน

· ค่าเงินยูโรเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์เคลื่อนไหวเหนือระดับ 1.1200 ดอลลาร์/ยูโร หลังนโยบายขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนของสหรัฐฯมีผลบังคับใช้ในวันนี้ แต่ตลาดยังคงมีความคาดหวังต่อการเจรจาระหว่างตัวแทนทั้ง 2 ประเทศที่จะดำเนินต่อในวันนี้ ขณะที่ดุลการค้าของเยอรมนีประกาศออกมาที่ 2.0 หมื่นล้าน

ความแข็งแกร่งของค่าเงินยูโรเมื่อเทียบกับดอลลาร์ (EUR/USD) อาจสอดคล้องกับการที่ค่าเงินยูโรเมื่อเทียบกับเงินเยน (EUR/JPY) มีแรงเข้าซื้อที่แข็งแกร่งเหนือระดับ 123.00 ยูโร/เยน แม้ดัชนี S&P 500 futures จะปรับตัวลดลง 0.30% ในช่วงตลาดวันนี้ก็ตาม ขณะที่ค่าเงินหยวนเริ่มฟื้นตัวจากระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือนที่ 6.8635 หยวน/ดอลลาร์ขึ้นมาได้ จึงน่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนค่าเงินยูโรวันนี้

อย่างไรก็ตาม หากค่าเงินเยนวันนี้แข็งค่าขึ้น และตลาดยุโรปไม่สามารถปรับขึ้นอย่างแข็งแกร่งตามหุ้นเอเชียได้ ค่าเงินยูโรเมื่อเทียบกับเยนก็มีโอกาสจะอ่อนค่าลงต่ำกว่า 123.00 ยูโร/เยนได้ และนั่นก็จะกดดันให้ค่าเงินยูโรต่อดอลลาร์ปรับอ่อนค่าลง

นอกจากนี้ แม้การเจรจาระหว่างสหรัฐฯ-จีนจะมีต่อภายในวันศุกร์นี้ แต่เนื่องจากการที่สหรัฐฯตัดสินใจขึ้นภาษี โอกาสที่ทั้ง 2 ประเทศจะสามารถบรรลุข้อตกลงได้ จึงลดลงไปอย่างมาก

· โฆษกประจำกระทรวงพาณิชย์จีนกล่าวย้ำเตือนว่า ทางจีนพร้อมที่จะตอบโต้นโยบายขึ้นภาษีของสหรัฐฯ พร้อมแสดงความหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถแก้ไขความขัดแย้งครั้งนี้ผ่านการเจรจาได้


· เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มหดตัวเล็กน้อยในไตรมาสแรกเนื่องจากการใช้จ่ายของภาคธุรกิจและผู้บริโภคลดลง

โดยยอดส่งออกลดลงเนื่องจากข้อพิพาททางการค้าและความต้องการทั่วโลกที่อ่อนแอลงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่พึ่งพาการค้า

ผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ คาดว่าจีดีพีญี่ปุ่นประจำไตรมาสแรกจะลดลงที่ระดับ 0.2% หลังจากที่ขยายตัว 1.9% ในไตรมาสที่สี่ของปีที่แล้ว

นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำ Mizuho Research Institute ระบุว่า บริษัท น่าจะชะลอการใช้จ่ายเงินทุนเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและความไม่แน่นอนในการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน พร้อมคาดว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลงเนื่องจากความเชื่อมั่นที่ลดลงจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้น



· สหรัฐฯได้ประกาศขึ้นภาษีจีนวันนี้ ซึ่งทางสถาบัน Economist Intelligence Unit เคยยกให้ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนเป็นปัจจัยที่สร้างความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกมากที่สุดอันดับ 1 ส่วนการขึ้นภาษีวันนี้ เศรษฐกิจจีนจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน แต่สหรัฐฯก็จะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เนื่องจากบรรดาผู้ประกอบการในประเทศจะต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น



· นักวิเคราะห์จาก The Guardian ประเมินว่า หากเกิดกรณีที่การเจรจาสหรัฐฯ-จีนไม่ประสบผลสำเร็จ และการค้าระหว่างทั้ง 2 ประเทศดำเนินไปต่อโดยมีอัตราภาษีที่ระดับปัจจุบัน ผลกระทบของมันจะทำให้เศรษฐกิจจีนสูญเสีย GDP ไปประมาณ 0.5% ขณะที่สหรัฐฯจะสูญเสีย GDP ไป 0.2% ส่วนระดับภาษีที่เพิ่งประกาศขึ้นในวันนี้ คิดเป็นประมาณ 0.15% ของยอด GDP สหรัฐฯในปี 2018




· นักวิเคราะห์จาก Société Générale ประเมินว่า การประกาศขึ้นภาษีของสหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้การเจรจาระหว่างตัวแทนสหรัฐฯ-จีน สามารถบรรลุข้อตกลงได้ อย่างไรก็ตาม อาจจำเป็นต้องรอจนถึงช่วงสุดสัปดาห์จนกว่าจะมีสัญญาณใดๆที่เกี่ยวกับการเจรจาออกมา

ทั้งนี้ นโยบายภาษีที่เพิ่งประกาศบังคับใช้ จะมีผลเฉพาะสินค้าที่ถูกส่งออกจากประเทศจีนหลังช่วงเวลาที่ประกาศใช้นโยบายเท่านั้น ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่นโยบายจะถูกยกเลิกไปโดยไม่มีฝ่ายใดต้องสูญเสียงบประมาณมากขึ้นจากการจ่ายภาษี

· นักเศรษฐศาสตร์ FX ของ Bank of America Merrill Lynch กล่าวว่า หากจีนตอบโต้นโยบายภาษีของสหรัฐฯ ก็จะส่งผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเพิ่มโอกาสที่เฟดอาจทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ย

ในกรณีนี้ เนื่องจากเฟดจะมีช่องสำหรับการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินมากกว่าธนาคารกลางอื่นๆ จึงบ่งชี้ไปถึงโอกาสที่ค่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินยูโรและเยน

· ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นแม้จะเผชิญแรงกดดันจากการขึ้นภาษีจีนของสหรัฐฯเป็นมูลค่า 2 แสนล้านเหรียญ ที่อาจกดดันภาพรวมปริมาณอุปสงค์น้ำมันทั่วโลกก็ตาม

โดยราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับสูงขึ้น 0.5% บริเวณ 70.73 เหรียญ/บาร์เรล โดยทำระดับสูงสุดที่ 71.23 เหรียญ/บาร์เรลไปก่อนหน้านี้

ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับสูงขึ้น 39 เซนท์ บริเวณ 62.09 เหรียญ โดยทำระดับสูงสุดที่ 62.49 เหรียญ/บาร์เรล

· นักวิเคราะห์จาก OANDA ระบุว่า การที่ราคาน้ำมันปรับขึ้นได้ เป็นเพราะได้แรงหนุนจากความตึงเครียดทางการเมือง โดยเฉพาะในอิหร่าน ที่กำลังเผชิญการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯที่มีแนวโน้มจะหนักขึ้นเรื่อยๆภายในเดือนนี้ ปริมาณการส่งออกน้ำมันของอิหร่านจึงมีแนวโน้มที่จะร่วงลงไปอย่างมาก


บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com