· ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ หลังความตึงเครียดเกี่ยวกับการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนกลับมาอีกครั้ง จึงหนุนให้เกิดการเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะ Safe-haven แต่ตลาดส่วนหนึ่งยังรอผลการประชุมเฟดในคืนนี้ จึงจำกัดการแข็งค่าของดอลลาร์เอาไว้
โดยดัชนีดอลลาร์แข็งค่าเกือบ 0.1% บริเวณ 96.454 จุด หลังจากที่ดัชนีสามารถสร้างฐานที่ระดับ 96.291 จุด ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดของวันที่ 1 มี.ค. ในคืนที่ผ่านมาได้
อย่างไรก็ตาม ดัชนียังคงเคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือนที่ 97.71 จุด ลงมาประมาณ 1.3% ซึ่งถูกกดดันอ่อนค่าลงมาจากกระแสคาดการณ์ว่าเฟดจะมีท่าทีผ่อนคลายทางนโยบายการเงิน
· นักวิเคราะห์จาก Pepperstone ระบุว่า สิ่งที่ตลาดตอบรับเกี่ยวกับการเจรจาค้า ณ ปัจจุบัน ค่อนข้างเป็นไปในเชิงลบ เนื่องจากตลาดกังวลว่าสหรัฐฯจะกลับมาขึ้นภาษีจีนอีก 25% เป็นมูลค่า 2 แสนล้านเหรียญอีกครั้ง”
· ขณะที่มีรายงานว่า นายโรเบิร์ต ไลท์ไธเซอร์ ตัวแทนการค้าสหรัฐฯ และนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ มีแผนจะเดินทางไปจีนในสัปดาห์หน้า เพื่อเจรจาต่อกับทางรองนายกรัฐมนตรีจีน
· นักวิเคราะห์จาก Daiwa Securities ประเมินว่า ตลาดไม่มีการคาดการณ์ว่า การเจรจาของทั้งสองฝ่ายจะสามารถหาข้อแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นในช่วงนี้ ตลาดจึงน่าจะมีการตอบรับที่ค่อนข้างรวดเร็วกับข่าวที่เข้ามากระทบ
· ตลาดเงินส่วนใหญ่ค่อนข้างที่ซบเซา เนื่องจากนักลงทุนกำลังรอผลการประชุมเฟดในคืนนี้ ซึ่งคาดว่าเฟดจะยืนยันถึงแนวทาง “อดทน” ต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไว้ดังเดิม รวมถึงจับตาว่าเฟด จะมีท่าทีเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่อไปเช่นไร ท่ามกลางเศรษฐกิจสหรัฐฯที่กำลังเผชิญภาวะชะลอตัว
ด้านค่าเงินยูโรและเงินเยนต่างอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ทั้งคู่ โดยค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงเล็กน้อยที่บริเวณ 1.1347 ดอลลาร์/ยูโร ขณะที่ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงมาเคลื่อนไหวแถว 111.60 เยน/ดอลลาร์
ส่วนค่าเงินปอนด์วันนี้อ่อนค่าลงมาบริเวณ 1.3259 ดอลลาร์/ปอนด์ ท่ามกลางความกังวลว่าการขอขยายระยะเวลา Brexit ของนายกฯอังกฤษ อาจกลายเป็นประเด็นขัดแย้งร่วมกันอียูได้
· Daily FX คาดการณ์ดัชนีดอลลาร์ก่อนทราบผลการประชุมเฟด ดัชนียังอยู่ในแดน Neutral ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯก็ยังคงทรงตัว โดยตามกราฟจะเห็นได้ว่าดัชนีเคลื่อนไหวอยู่ในช่อง Ascending triangle ที่ก่อตัวขึ้นตั้งแต่เดือน พ.ย. ซึ่งตามรูปแบบดังกล่าวจะเห็นแนวรับอยู่ที่ระดับ 96.25 จุด หากดัชนีหลุดแนวรับนี้ลงไป ทิศทางขาลงก็จะกลับมามีกำลังมากขึ้น
· Japanese Yen Technical Analysis: USD/JPY จับตาแนวต้าน 112.00
บทวิเคราะห์จาก Daily FX ระบุว่า ค่าเงินเยน หรือ USD/JPY กำลังเคลื่อนตัวในกรอบเทรนขาขึ้นเดิมที่คงอยู่มาได้เกือบตลอดปีนี้ อย่างไรก็ตาม ค่าเงินยังคงถูกจำกัดโดยแนวต้านที่ระดับ 112.00 เยน/ดอลลาร์ ซึ่งค่าเงินก็ไม่สามารถปิดตลาดรายวันเหนือระดับนี้ได้เสียที แม้ในช่วงไม่กี่สัปดาห์จะเข้าใกล้แนวต้านดังกล่าว และเคยทำ Top ที่ระดับนี้เมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ โอกาสที่ค่าเงินจะสามารถผ่านแนวต้านดังกล่าวไปได้เริ่มมีมากขึ้น โดยจากกราฟจะเห็นได้ว่า ค่าเงินมีการทำรูปแบบ Triangle ภายในช่องเทรนขาขึ้น ซึ่งหมายความว่า หากค่าเงิน Break ออกจากกรอบ Triangle นี้ได้ ก็จะมีโอกาสขึ้นหรือลงแรงตามมมา
· จากคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยของเฟด โดย Daily FX จะเห็นได้ว่า ตลาดมีการคาดการณ์ว่า เฟดมีแนวโน้มสูงที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไปจนถึงปลายปี 2019 และอาจพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในช่วงต้นปี 2020
· ผลการประชุมของเฟดในคืนนี้ คาดการณ์ส่วนใหญ่เชื่อว่าเฟดจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ย ปรับลดคาดการณ์การขึ้นอัตราดอกเบี้ยตลอดปีนี้ และเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับแผนปรับลดพอร์ตงบดุลที่ตลาดรอคอยมาอย่างยาวนาน
โดยเครื่องมือ FedWatch ของ CME Group บ่งชี้ว่ามีโอกาส 75% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมคืนนี้ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยของเฟดในปัจจุบันอยู่ที่ 2.25 – 2.50%
คาดการณ์เศรษฐกิจรายไตรมาสและการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ก็จะถูกเปิดเผยในคืนนี้เช่นกัน ซึ่งตลาดจะจับตาดูว่าคาดการณ์ใหม่ของเฟดจะสอดคล้องกับคาดการณ์ของตลาดมากแค่ไหน โดยคาดการณ์ของเฟดในเดือน ธ.ค. มองโอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ไว้ที่ 2 ครั้ง ขณะที่ตลาดมองไว้ที่ 1 ครั้ง
อีกประเด็นหนึ่งที่ตลาดจะจับตาอย่างใกล้ชิด คือเฟดมีแนวคิดที่จะหยุดการปรับลดพอร์ตงบดุลลงเมื่อไหร่ ซึ่งปัจจุบัน เฟดมีการปรับลดพอร์ตงบดุลในแต่ละเดือนอยู่ที่ 5 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งรายละเอียดดังกล่าวก็ถูกคาดว่าจะได้รับการเปิดเผยในคืนนี้เช่นเดียวกัน
· รายงานจากบลูมเบิร์ก เผยผลสำรวจผู้จัดการกองทุนที่จัดทำโดย Bank of America Merrill Lynch โดยระบุว่า ภาวะชะลอตัวทางเสรษฐกิจจีนที่ไม่ได้หมายรวมถึงภาวะ Trade War ดูจะเป็นความเสี่ยงครั้งใหญ่สำหรับนักลงทุนเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี
โดยสำรวจกว่า 3 ส่วน ชี้ว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนดูจะเป็นความกังวลครั้งใหญ่สำหรับพวกเขา แทนที่ Trade War ที่เคยนำมาเป็นอันดับหนึ่งในลิสต์รายการช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา
สำหรับตลาดหุ้นทั่วโลกฟื้นตัวได้หลังจากที่มีสัญญาณเชิงบวกต่อข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐฯแลจีน ขณะที่ความกังวลทั้้งคู่ดูจะส่งผลให้ตลาดเกิด Newflow ขึ้นมา
· รายงานจาก BBC ระบุว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐฯมีแผนจะเดินทางเยือนจีนในสัปดาห์หน้าเพื่อยุติข้อพิพาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน
ทั้งนี้ สิ่งที่อยู่ระหว่างเจรจาของสหรัฐฯและจีน คือเรื่องที่สหรัฐฯกล่าวหาว่าจีนละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทสหรัฐฯ รวมทั้งการลักลอบถ่ายโอนข้อมูลเทคโนโลยีสหรัฐฯมายังจีน และสหรัฐฯต้องการให้จีนมีการเปลี่ยนแปลงการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่ยุติธรรมต่อบริษัทสหรัฐฯที่ตั้งอยู่ในจีน ตลอดจนการสนับสนุนต่างๆ รวมทั้งต้องการให้จีนเข้าซื้อสินค้าจีนเพิ่มขึ้นเพื่อลดปัญหายอดขาดดุลทางการค้า
ขณะที่จีนกล่าวหาว่าสหรัฐฯเป็นคนเริ่มสงครามการค้าทางเศรษฐกิจครั้งประวัติศาสตร์และไม่มีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใดๆ ขณะที่เจ้าหน้าที่จีน เผยว่า นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ไม่ต้องการให้พบกับนายทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ยกเว้นแต่ข้อตกลงทางการค้าหลักๆจะสามารถพูดคุยร่วมกันได้ในการหลีกเลี่ยงข้อพิพาทระหว่างกัน
อย่างไรก็ดี การก่อสงครามการค้าระหว่างสองประเทศข้างต้นก็ดูจะบั่นทอนภาวะการค้าของโลกและส่งผลให้เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบในเรื่องการชะลอตัวตามมา
· รายงานจากสำนักข่าว Sky ระบุว่า นางเทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ จะส่งจดหมายทางการไปยังอียู เพื่อขอขยายระยะเวลา Brexit ออกไปเป็นระยะสั้นๆ อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาที่ทางอังกฤษจะขอขยายออกไปยังคงไม่มีความชัดเจน เนื่องด้วยปัญหาความขัดแย้งภายในรัฐสภา
ซึ่งนางเมย์ได้เคยเตือนทางรัฐสภาว่า หากไม่ยอมรับข้อตกลง Brexit ของเธอ ก็มีความเป็นไปได้ที่อังกฤษจะขยายระยะเวลาออกไปมากกว่าวันที่ 30 มิ.ย. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เกิดความไม่แน่นอนว่าแผน Brexit จะยังถูกดำเนินต่อได้หรือไม่
· รายงานจาก BBC ระบุว่า นางเมย์จะไม่ขอขยายระยะเวลา Brexit ออกไปเป็นระยะเวลาที่ยาวนานเกินไป ขณะที่ทางนายไมเคิล บาร์เนีย ตัวแทนการเจรจา Brexit จากฝั่งอียู ยังคงยืนกรานว่า ทางอียูจะไม่อนุมัติให้ขยายระยะเวลาใดๆ หากอังกฤษไม่มีการนำเสนอแผน Brexit ที่ “ชัดเจน”
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์จาก BBC ประเมินว่า ทางอังกฤษน่าจะไม่ขอขยายระยะเวลา Brexit ออกไปมากกว่าเดือน มิ.ย. และการขอขยายระยะเวลาจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากบรรดาผู้นำในอียูทั้ง 27 ประเทศ ซึ่งนางเมย์มีกำหนดจะเดินทางไปเจรจากับอียูอีกครั้ง ณ กรุงบรัซเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม ภายในวันพฤหัสบดีนี้
· ผลสำรวจความเชื่อมั่นบรรดาผู้ประกอบการในเอเชีย โดย Reuters/INSEAD พบว่า ผู้ประกอบการในเอเชียมีความเชื่อมั่นอยู่ใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปีในไตรมาสที่ 1/2019 ท่ามกลางแรงกดดันจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่กดดันการเติบโตของเศรษฐกิจโลกซึ่งกำลังอยู่ในทิศทางชะลอตัวลงอยู่แล้ว
ทั้งนี้ ผลสำรวจในช่วงไตรมาสที่ 1/2019 ผลออกมาที่ทรงตัวที่ 63 จุด เท่ากับในไตรมาสที่ 4/2018 เคลื่อนไหวใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปีที่ลงไปทำระดับดังกล่าวเมื่อไตรมาสที่ 3/2018 ที่ผ่านมา
· นักการทูตอาวุโสจากจีน กล่าวว่า ความเข้าใจผิดในโครงการ “Belt and Road Initiative” เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ก่อนหน้าการเดินทางเยือนยุโรปของนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ในขณะที่ทางอิตาลีได้ตัดสินใจจะเข้าร่วมโครงการดังกล่าว
การตัดสินใจเข้าร่วมโครงการของอิตาลี ได้สร้างความไม่พึงพอใจให้กับประเทศคู้ค้าของอิตาลีภายในยุโรปบางส่วน และทางอิตาลีมีแผนที่จะส่งตัวแทนไปร่วมการประชุมใหญ่ภายใต้โครงการ Belt and Road Initiative ที่จะจัดขึ้น ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ในช่วงปลายเดือน เม.ย.
ส่วนการเดินทางเยือนยุโรปของนายจิ้นผิง ระหว่างวันที่ 21 – 26 มี.ค. จะเริ่มต้นที่อิตาลีก่อน จากนั้นจะเดินทางสู่ฝรั่งเศส และโมร็อกโก
· ทางด้านนายจิ้นผิง ก่อนหน้าการเดินทางเยือนอิตาลี ได้กล่าวว่า จีนตั้งใจที่จะสานความสัมพันธ์ร่วมกับอิตาลีให้เข้าสู่ยุคสมัยใหม่ โดยจะยกระดับความสัมพันธ์ทางการค้า และร่วมแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสภาพแวดล้อม ตลอดจนปัญหาในกลุ่มเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อย่างเช่น WTO และ G20
· ราคาน้ำมันดิบปิดปรับตัวลง จากระดับสูงสุดรอบ 4 เดือน ท่มกลางกลุ่มนักลงทุนที่่ดูจะยังกังวลต่อทิศทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลก ประกอบกับแนวโน้มความต้องการอุปโภคบริโภคน้ำมัน
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์บางส่วน ระบุว่า ราคาน้ำมันจะยังได้รับปัจจัยบวกจากภาวะอุปทานน้ำมันที่ตึงตัว ประกอบกับการที่โอเปกเดินหน้าทำตามข้อตกลงน้ำมัน และข่าวที่สหรัฐฯมีการคว่ำบาตรประเทศเวเนซุเอลา และอิหร่าน
น้ำมันดิบ Brent ปรับมาที่ 67.5 เหรียญ/บาร์เรล หรือปรับลงประมาณ 11 เซนต์ คิดเป็น -0.2% หลังจากที่เมื่อวานนี้ไปทำ High ช่วงต้นตลาดบริเวณ 68.2 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ 16 พ.ย.ปีที่แล้ว
ทางด้านน้ำมันดิบ WTI ปรับลงไปประมาณ 20 เซนต์ คิดเป็น -0.3% ที่ระดับ 58.83 เหรียญ/บาร์เรล หลังจากไปทำ High นับตั้งแต่ 12 พ.ย. บริเวณ 59.57 เหรียญ/บาร์เรลเมื่อวานนี้
· CRUDE OIL TECHNICAL ANALYSIS
ราคาน้ำมันดิบ WTI กำลังทดสอบแนวต้านที่เป็นเส้น 50% Fibonacci retracement ที่ระดับ 59.63 เหรียญ/บาร์เรล หากราคาสามารถปิดตลาดวันนี้เหนือระดับดังกล่าวได้ จะเปิดโอกาสให้ราคาขึ้นต่อไปถึงบริเวณ 63.59 – 64.43 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งจะยิ่งมีแรงหนุนในทิศทางขาขึ้นเพิ่มากขึ้นอีก หากสามารถผ่านเส้น 61.8% Fib ที่ 63.71 เหรียญ/บาร์เรลไปได้ด้วย ในทางกลับกัน หากราคาจะเกิดย่อตัวลงหลุดแนวรับที่ 55.37-75 เหรียญ/บาร์เรล จะเป็นการลบล้างแนวโน้มทิศทางขาขึ้น และมีโอกาสร่วงต่อไปถึงบริเวณ 50.31 – 51.33 เหรียญ/บาร์เรล