• สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคค่ำ) ประจำวันที่ 14 มีนาคม 2562

    14 มีนาคม 2562 | Economic News
 
· ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจากระดับต่ำสุดในรอบ 9 วัน เนื่องจากค่าเงินปอนด์อังกฤษกลับมาอ่อนค่า หลังจากที่แข็งค่าเมื่อคืนหลังตลาดผ่อนคลายความกังวลเกี่ยวกับการลงมติ No-deal Brexit

โดยดัชนีดอลลาร์ปรับแข็งค่า 0.1% บริเวณ 96.633 จุด หลังจากที่อ่อนค่าลง 0.4% เมื่อคืนนี้ ทำระดับต่ำสุดในรอบ 9 วันที่ 96.385 จุด

· ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าลง 0.65% บริเวณ 1.3254 ดอลลาร์/ปอนด์ หลังจากแข็งค่าไปถึงระดับ 1.3380 ดอลลาร์/ปอนด์เมื่อคืนนี้ ซึ่งเป็นระดับแข็งค่าที่สุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. ปี 2018

· นักวิเคราะห์จาก Barclays ระบุว่า ค่าเงินปอนด์เผชิญกับภาวะของการดีดกลับ หลังจากปรับแข็งค่าขึ้นมาเกินไปเมื่อคืน ขณะที่ตลาดยังต้องการความชัดเจนเกี่ยวกับการลงมติขยายระยะเวลาของ Brexit ในคืนนี้

ทั้งนี้ ตลาดคาดการณ์ว่ารัฐสภาอังกฤษจะมติให้ขยายระยะเวลาของ Brexit ออกไปภายในการลงมติคืนนี้

· นักวิเคราะห์จาก IG Securities ระบุว่า ค่าเงินปอนด์เริ่มมีการสร้างฐานที่แข็งแกร่ง ขณะที่การปรับแข็งค่าขึ้นเมื่อคืนเป็นการปรับขึ้นตามกระแสคาดการณ์ ไม่ได้เกิดจากปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจ แรงหนุนในทิศทางขาขึ้นของค่าเงินปอนด์จึงมีท่าทีจะจบลงเพียงเท่านี้

ด้านค่าเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับเงินเยน แข็งค่า 0.35% บริเวณ 111.53 เยน/ดอลลาร์ หลังจากอ่อนค่าลง 0.2% ไปเมื่อวาน

· ขณะที่ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงเล็กน้อยบริเวณ 1.1320 ดอลลาร์/ยูโร หลังจากแข็งค่าได้ 0.3% เมื่อคืน

· ค่าเงินปอนด์อังกฤษจะจับตาการลงมติของรัฐสภาอังกฤษคืนนี้ ซึ่งจะเกี่ยวกับการตัดสินว่าจะขยายระยะเวลาของการถอนตัวออกจากอียูหรือไม่ภายในคืนนี้ หลังจากที่การลงมติเมื่อคืนจบลงด้วยผลลัพธ์ที่อังกฤษจะไม่ยอมถอนตัวแบบ No-deal

ทั้งนี้ ถึงแม้อังกฤษจะมีมติให้ขยายระยะเวลาของการถอนตัวออกไป แต่ยังจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากทางอียู และอาจมีการจ่ายค่าปรับต่ออียูเป็นมูลค่ามากถึง 3.9 หมื่นล้านปอนด์

อย่างไรก็ตาม เรื่องของค่าปรับอาจมีการเจรจากันต่อ หากอียูเรียกเก็บค่าปรับต่ำเกินไป อาจกระตุ้นให้ประเทศอื่นๆพากันถอนตัวออกจากอียูตามอังกฤษ แต่ถ้าเรียกเก็บมากเกินไปก็จะถูกนานาประเทศมองว่าโหดเหี้ยมเกินไป และทางอียูก็จำเป็นต้องรักษาหน้าตาในฐานะองค์กรที่เป็นกลางในยูโรโซน เนื่องจากการเลือกตั้งในรัฐสภาอียูที่เข้าใกล้เข้ามา ที่เป็นสัญญาณของความวุ่นวายทางการเมืองยูโรโซนครั้งต่อไป ตามที่นายมาริโอ ดรากี้ ประธานอีซีบี เคยแสดงความกังวลเอาไว้

หากผลการลงมติคืนนี้ออกมาหนุนให้ความต้องการ Safe-haven สูงขึ้น ก็จะเห็นค่าเงินดอลลาร์ เยนญี่ปุ่น และสวิสฟรังก์ ปรับแข็งค่าขึ้น โดยเฉพาะสวิสฟรังก์ เนื่องจากเป็นเศรษฐกิจที่อยู่ใกล้กับยูโรโซนมากที่สุด เห็นได้จากการที่ค่าเงินฟรังก์แข็งค่าได้ในช่วงตลาดเอเชียวันนี้

ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์จะจับตาการประกาศตัวเลขยอดขายบ้านใหม่รายเดือนของสหรัฐฯ ในคืนนี้ เวลาประมาณ 21.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ซึ่งขายว่าจะออกมาขยายตัว 0.30% จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวได้ 3.70% หากตัวเลขออกมาขยายตัวจะบ่งชี้ถึงแนวโน้มที่การใช้จ่ายของผู้บริโภคจะเพิ่มขึ้น จึงอาจหนุนให้อัตราเงินเฟ้อขยายตัว ส่งผลกระทบต่อแนวทางการดำเนินดอกเบี้ยของเฟด และหนุนให้ดอลลาร์แข็งค่า

· ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวใกล้เคียงกับเมื่อวานนี้บริเวณ 1.1325 ดอลลาร์/ยูโร ท่ามกลางดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง และกราฟเป็นไปในรูปของ Symmetrical Triangle โดยราคามีแนวโน้มจะอ่อนตัวลงต่อกลับมาแถว 1.1310 และ 1.1300 ดอลลาร์/ยูโร

อย่างไรก็ดี ระดับแนวรับบริเวณ 1.1280 ดอลลาร์/ยูโรน่าจะยังรับอยู่ แต่หากไม่ผ่านก็มีแนวโน้มจะเห็น 1.1250 และ 1.1220 ดอลลาร์/ยูโรตามมา จากแรงขายของนักลงทุน

ในทางกลับกัน หากค่าเงินยูโรยืนเหนือ 1.1335 ดอลลาร์/ยูโรได้ มีโอกาสเห็นแรงซื้อกลับไปบริเวณ 1.1355 และ 1.1380 ดอลลาร์/ยูโร แต่ก็ยังไม่น่าเห็นราคากลับไปแถว 1.1400 และ 1.1425 ดอลลาร์/ยูโรได้ในเวลานี้


· ค่าเงินเยนกลับขึ้นทดสอบ 111.46 เยน/ดอลลาร์ หลังจากที่ลงไปแข็งค่าบริเวณ 111.2 เหยน/ดอลลาร์

โดยหากเงินเยนอ่อนค่าทะลุเหนือ 111.46 เยน/ดอลลาร์ ก็จะยิ่งยืนยันถงภาวะอ่อนค่าและทำให้ค่าเงินเยนอาจไปต่อแถว 111.85-112.00 เยน/ดอลลาร์ได้ ท่ามกลางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีที่ฟื้นตัวจากระดับต่ำสุดรอบ 3 เดือนจาก2.6% ในช่วงต้นสัปดาห์ ก็ยิ่งมีโอกาสจะทำให้เงินเยนเหนือ 111.46 เยน/ดอลลาร์ได้ ขณะที่แนวรับด้านล่างอยู่ที่ 111 เยน/ดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นแนวรับสำคัญทางจิตวิทยา หากต่ำกว่าจะส่งผลให้กลายเป็นทิศทางแข็งค่า

· นักเศรษฐศาสตร์จาก NAB คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะอ่อนตัวลงต่อในปีนี้ ท่ามกลางเงื่อนไขภาคการผลิตที่ยังชะลอตัว ทั้งภายในและภายนอกประเทศ อันจะเห็นได้จากยอดส่งออก

ทั้งนี้ เศรษฐกิจจีนคาดจะขยายตัวได้ในกรอบ 6% - 6.5% โดยปีนี้น่าจะเติบโตได้ที่ 2019% ก่อนจะชะลอตัวลงแตะ 6.0% ในปี 2020 แม้ว่าTrade War ระหว่างสหรัฐฯและจีนจะผ่อนคลายลงในเร็วๆนี้ แต่สภาวะการค้าทั่วโลกที่ยังคงอ่อนตัวก็ถือเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ทาง NAB ปรับลดคาดการณ์นี้

นอกจากนี้ ทาง NAB ยังมีการปรับทบทวนคาดการณ์แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกด้วยว่าในปีนี้จะขยายตัวได้ 3.4% ท่ามกลางแนวโน้มเชิงลบ แม้ว่าตลาดการเงินจะมีการฟื้นตัว แต่ก็ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับสุงสุดที่เคยทำไว้ จึงยิ่งหนุนให้บรรดาธนาคารกลางน่าจะกลับมาใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน จากการประเมินความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ โดยแนวโน้มส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางอ่อนตัว ทั้งประเทศเศรษฐกิจหลักๆ และกลุ่มตลาดเกิดใหม่ อันจะเห็นได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4/2018 ทั้งสัญญาณชี้นำต่างๆ รวมทั้งผลสำรวจภาคการผลิตอย่าง PMI ที่ต่างก็ชะลอตัวลง โดยเฉพาะการค้าที่ลดลงมากกว่าภาคบริการ

ภาพรวมการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลกมีผลมาจากความกังวลเรื่องการค้าโลก และอุปสงค์ภายในปะรเทศที่อ่อนตัวลง โดยเฉพาะกลุ่มภาคเอกชนและการลงทุนในภาคธรุกิจ แม้ว่าจะมีสัญญาณผ่อนคลายทางการค้าระหว่างสองประเทศอย่างสหรัฐฯและจีน ดังนั้นเศรษฐกิจโลกปีนี้น่าจะขยายตัวได้ 3.4% ท่ามกลางทิศทางเศรษฐกิจของยูโรโซน ญี่ปุ่น และแถบละตินอเมริกาที่ถูกปรับทบทวนมุมมองลง แต่ในปีหน้า (2020) ก็ดูมีแนวโน้มจะเห็นทิศทางเศรษฐกิจมีเสถียรภาพมากขึ้น และน่าจะมีการปรับลดนโยบายผ่อนคลายทางการเงินลงไปได้

· นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวว่า เขา “ไม่เร่งรีบ” ที่จะบรรลุข้อตกลงทางการค้าร่วมกับจีน แต่ได้เน้นย้ำว่า ข้อตกลงทางการค้าจำเป็นต้องรวมถึงการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ที่เป็นปัญหาสำคัญของการเจรจาระหว่างทั้ง 2ประเทศ

ขณะที่นายทรัมป์และนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ถูกคาดการณ์ว่าจะสามารถมาพบกันในสหรัฐฯได้ภายในปลายเดือน มี.ค. นี้ เพื่อร่วมลงนามในข้อตกลงทางการค้า แต่ยังคงไม่มีประกาศอย่างเป็นทางการออกมาแต่อย่างใด ไม่ว่าจะมาจากฝั่งสหรัฐฯหรือว่าจีน

· อัตราการขยายตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมในประเทศจีนชะลอตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 17 ปีในช่วงเดือน 2 เดือนแรกของปี 2019 บ่งชี้ถึงทิศทางที่เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงต่อ และหนุนให้ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขทางเศรษฐกิจของจีนที่ออกมาก่อนหน้าค่อนข้างที่จะผสมผสานกัน โดยยอดการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์กลับขยายตัวขึ้น ขณะที่ยอดค้าปลีกแม้จะขยายตัวได้ไม่มากแต่ยังอยู่ในภาวะสมดุล จึงบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจจีนยังไม่ได้เข้าสู่ภาวะชะลอตัวรุนแรงแต่อย่างใด

ขณะที่ภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจจีนปีนี้ มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 29 ปี แต่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ออกมาก่อนหน้านี้ ยังจำเป็นต้องใช้เวลาจนกว่าจะเป็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะเริ่มกลับมามีเสถียรภาพอีกครั้งภายในช่วงกลางปีนี้

· รัฐสภาอังกฤษมีกำหนดจะลงมติอีกครั้งภายในคืนนี้ เกี่ยวกับการขยายระยะเวลาของมาตรการ 50 หรือกำหนดการถอนตัวออกจากอียูจากเดิมในวันที่ 29 มี.ค. ออกไป ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากทางอียู และทางอังกฤษต้องมีเหตุผลที่ดีพอที่จะโน้มน้าวให้อียูตกลงที่จะขยายระยะเวลา

อย่างไรก็ตาม บรรดาเจ้าหน้าที่จากฝั่งอียูเริ่มที่ส่งสัญญาณไม่พึงพอใจต่อความวุ่นวายและความไม่ชัดเจนของการเมืองอังกฤษ เห็นได้จากที่นายไมเคิล บาร์เนียร์ ตัวแทนการเจรจา Brexit จากฝั่งอียู ออกมาระบุว่า ทางอียูจะไม่ยอมมีการเจรจาแก้ไขข้อตกลง Brexit เป็นครั้งที่ 3 เด็ดขาด

นักวิเคราะห์จาก Capital Economics ระบุว่า ตลาดได้เรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดช่วง 2 ปีนี้ ว่าไม่ควรคาดการณ์ใดๆไปเองกับกรณีของ Brexit ซึ่งการโหวตในคืนนี้จะช่วยมีความชัดเจนมากขึ้นว่า Brexit จะดำเนินไปในหนทางใด และทางรัฐสภาอังกฤษก็จะมีตัวเลือกในการลงมติหนทางของ Brexit มากขึ้น แต่เนื่องจากความวุ่นวายทางการเมืองของอังกฤษ จึงมีโอกาสที่จะเห็นตัวนายกรัฐมนตรัประกาศลาออกจากตำแหน่งหรือการเกิดการเลือกทั่วไปก่อนกำหนด



· นักวิเคราะห์จาก FXStreet มองว่า ระดับราคาน้ำมันดิบ WTI กำลังทดสอบบริเวณ 58 เหรียญ/บาร์เรล หากผ่านไปได้จะมีการทำ Double Top และทิศทางของราคาดูจะกลับเป็นขาขึ้นได้อีกครั้งหลังจากที่สามารถยืนได้เหนือระดับ 57.93 เหรียญ/บาร์เรล รวมทั้งเหนือระดับเส้นแนวต้านช่วงกลางเดือนพ.ย. ปี 2018

ดังนั้น เป้าหมายต่อไปของราคาจะอยู่ที่ 59.7 เหรียญ และบริเวณเส้นค่าเฉลี่ย Fibonacci 61.8% หรือมีโอกาสเห็นราคาแถว 60 เหรียญ/บาร์เรล ท่ามกลางเส้น Ichimoku Cloud ที่สะท้อนเป็นขาขึ้นเช่นกัน

· ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบ Brent แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.ปี 2018 ท่ามกลางการปรับลดกำลังผลิตและประเด็นการคว่ำบาตรเวเนซุเวล่าและอิหร่านของสหรัฐฯ ขณะที่อุปสงค์ของจีนยังคงแข็งแกร่ง แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงก็ตาม

เหล่าเทรดเดอร์ ระบุว่า การลดลงอย่างไม่คาดคิดในสินค้าคงคลังและการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯก็ช่วยหนุนราคาด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบ Brent เพิ่มขึ้น 0.3% ที่ระดับ 67.78 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI เพิ่มขึ้น 0.3% ที่ระดับ 58.42 เหรียญ/บาร์เรล


บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com