• สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคค่ำ) ประจำวันที่ 12 มีนาคม 2562

    12 มีนาคม 2562 | Economic News
 

 · ค่าเงินปอนด์แข็งค่าท่ามกลางกระแสคาดการณ์ว่านายกฯอังกฤษอาจสามารถเรียกเสียงสนับสนุนข้อตกลง Brexit ได้ในที่สุด หลังจากที่สามารถแก้ไขข้อตกลงร่วมกันผู้นำอียูเป็นผลสำเร็จ

โดยค่าเงินปอนด์แข็งค่าทำระดับสูงสุดที่บริเวณ 1.3290 ดอลลาร์/ปอนด์ หลังมีการประกาศว่าสามารถเจรจาแก้ไขข้อตกลงสำเร็จ ก่อนที่จะอ่อนค่าลงมาประมาณ 0.5% ที่บริเวณ 1.3214 ดอลลาร์/ปอนด์ แต่ในภาพรวมก็ยังคงเคลื่อนไหวในแดนบวกขึ้นมาประมาณ 2.1% จากระดับต่ำสุดที่ 1.2945 ดอลลาร์/ปอนด์ของเมื่อวันจันทร์

นักวิเคราะห์จาก Mizuho Securities ระบุว่า ตลาดค่อนข้างที่จะอ่อนไหวกับข่าว Brexit ในเชิงบวก เนื่องจากตลาดมีการตอบรับกับข่าวร้ายไปก่อนหน้านี้จนเริ่มที่จะอิ่มตัว อย่างไรก็ตาม โอกาสที่รัฐสภาอังกฤษจะลงมติผ่านให้กับข้อตกลงในคืนนี้ ก็ยังคงมีอยู่ต่ำ ขณะที่เหลืออีก 2 สัปดาห์กว่าๆ ก่อนที่อังกฤษจะถอนตัวออกจากอียู

ขณะที่ค่าเงินอื่นๆค่อนข้างทรงตัว เนื่องจากกำลังจับตาการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อในเดือน ก.พ. ของสหรัฐฯ ที่จะมีประกาศภายในคืนนี้

ด้านดัชนีดอลลาร์อ่อนค่าลง 0.2% บริเวณ 97.056 จุด หลังตลาดเริ่มหันกลับเข้ามาสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงกว่า เห็นได้จากการที่ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า 0.2% เมื่อเทียบกับเงินเยนบริเวณ 111.41 เยน/ดอลลาร์

สำหรับค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้น 0.1% บริเวณ 1.1259 ดอลลาร์/ยูโร โดยได้รับแรงหนุนจากเชื่อมั่นที่ดีขึ้นหลังการเจรจาข้อตกลง Brexit ประสบความสำเร็จ ซึ่งก่อนหน้าค่าเงินยูโรได้อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง จากสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจยูโรโซน

· ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในสัปดาห์นี้คือการลงมติ Brexit ในรัฐสภาอังกฤษที่จะเกิดขึ้นในคืนวันอังคาร วันพุธ และอาจรวมถึงวันพฤหัสบดีด้วย แม้จะไม่มีกำหนดเวลาที่ชัดเจนสำหรับการลงมติ แต่เชื่อว่าการลงมติจะเกิดขึ้นในช่วงดึกตามเวลาประเทศไทย ตามหลังการโต้วาทีในรัฐสภาอังกฤษ

สำหรับการลงมติ มีผลลัพธ์ที่เป็นไปได้อยู่ 2 แบบ แบบแรกคือ รัฐสภามีมติสนับสนุนข้อตกลง Brexit ของนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสามารถผลักดันข้อตกลงให้มีผลบังคับใช้ต่อไป และอังกฤษก็จะถอนตัวออกจากอียูในวันที่ 29 มี.ค. ตามกำหนดการเดิม

ผลที่ตามมากับค่าเงินปอนด์อังกฤษคือการที่ค่าเงินแข็งค่าขึ้นทันที 1-2% เนื่องจากผลลัพธ์ของ Brexit เป็นที่ชัดเจน แต่หลังจากนั้นตลาดจะหันไปให้ความสนใจเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจอังกฤษภายใต้ข้อตกลงดังกล่าวในอนาคตแทน

อย่างไรก็ตาม อีกผลลัพธ์นึง ซึ่งมีความเป็นไปได้มากที่สุด คือการที่รัฐสภาโหวตปฏิเสธร่างข้อตกลง ซึ่งมีรายงานว่าบรรดาคณะรัฐมนตรีได้แสดงการไม่สนับสนุนไปก่อนแล้ว ขณะที่นายกรัฐมนตรีก็ยังคงล้มเหลวที่จะเรียกเสียงสนับสนุน ดังนั้น การลงมติในคืนวันอังคารจึงมีโอกาสสูงที่จะล้มเหลว

ซึ่งหากการลงมติคืนวันอังคารล้มเหลว รัฐสภาจะมีการลงมติอีกครั้งในวันพุธเพื่อตัดสินใจว่าอังกฤษจะยอมถอนตัวออกจากอียูแบบไม่มีข้อตกลง (No Deal) หรือไม่ ซึ่งก่อนหน้านี้ ตัวนายกฯได้เคยกล่าวว่า “การไม่มีข้อตกลงดีกว่าการมีข้อตกลงที่แย่” ซึ่งหากรัฐสภาลงมติเห็นด้วยที่จะให้อังกฤษถอนตัวแบบ No Deal นั่นก็จะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับค่าเงินปอนด์

ทางผู้ว่าธนาคารกลางอังกฤษได้เคยออกมาเตือนว่า หากเกิดกรณี No Deal Brexit อาจเห็นค่าเงินปอนด์อ่อนค่าลงมาได้ถึง 25% แม้ว่าจะไม่เกิดขึ้นในทันที แต่ค่าเงินจะค่อยๆทยอยอ่อนค่าลง ขณะที่ในระยะสั้นๆหรือเพียงไม่กี่นาทีหลังทราบผลการลงมติ เรามีโอกาสที่จะเห็นค่าเงินอ่อนค่าลงได้ถึง 2-4%

การถอนตัวออกไปแบบ No Deal ถูกมองว่าเป็นการกระทำที่ไร้ความรับผิดชอบ ซึ่งบรรดารัฐมนตรีในรัฐสภาอังกฤษต่างก็รู้สึกเช่นนี้ ดังนั้นโอกาสที่รัฐบาลจะสนับสนุน No Deal Brexit จึงมีอยู่ต่ำ และหากการโหวตในคืนวันพุธมีผลออกมาว่าไม่เห็นด้วย การลงมติในคืนวันพฤหัสบดีจะเกี่ยวกับการตัดสินว่าจะขอขยายระยะเวลาของมาตรา 50 หรือเลื่อนกำหนดการถอนตัวเดิมในวันที่ 29 มี.ค. นี้ออกไปหรือไม่

สำหรับด้านค่าเงินยูโร นักวิเคราะห์จาก FX Street ยังคงมองเป้าหมายไว้ที่ 1.10 ดอลลาร์/ยูโร เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจยูโรโซน ต่างบ่งชี้ไปยังทิศทางชะลอตัวตามที่อีซีบีแสดงความกังวล ไม่ว่าจะเป็นอัตราการผลิตภาคอุตสาหกรรมเยอรมนีที่ชะลอตัวลง -0.8% ทำให้ยอดเกินดุลการค้าของเยอรมนีเพิ่มสูงขึ้นเกินคาด

นอกจากนี้ เกี่ยวกับนโยบาย TLTRO 3 หรือแผนปล่อยกู้ราคาถูกให้กับภาคธนาคารที่ทางอีซีบีได้ประกาศออกมาในการประชุมครั้งที่ผ่านมา ทางธนาคารได้ระบุว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการผ่อนคลายทางการเงินเพื่อเตรียมพร้อมกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกรณี Brexit และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

· นายทาโร่ อาโซะ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังแห่งญี่ปุ่น ระบุว่า บีโอเจสามารถมีความยืดหยุ่นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายของอัตราเงินเฟ้อจากเดิมที่ 2% ได้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในญี่ปุ่นยังคงชะลอตัวและไม่สามารถขยายตัวได้ตามเป้าเสียที

อย่างไรก็ตาม นายมาซาโยชิ อามามิยะ รองผู้ว่าบีโอเจ กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญที่สุดของบีโอเจคือการผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อขยายตัวสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% ให้ได้

ขณะที่การประชุมของบีโอเจในสัปดาห์หน้า มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ย และกล่าวเตือนถึงปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจจากภายนอกประเทศ

· รายงานจาก Reuters ระบุว่า ธนาคารกลางแห่งประเทศจีนกำลังศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น หากธนาคารกลางพิจารณาเปลี่ยนแปลงนโยบายอัตราดอกเบี้ย ซึ่งรายงานข่าวนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางจีนอาจพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด เพื่อช่วยหนุนเศรษฐกิจที่กำลังประสบภาวะชะลอตัว

อย่างไรก็ตาม อีกกระแสคาดการณ์หนึ่ง มองว่าทางธนาคารกลางยังไม่พร้อมที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย แต่อาจมีการออกนโยบายปรับสภาพของตลาดในด้านอื่นๆ เช่นการปรับลดเพดานการถือครองสินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ (RRR)

· รายงานจาก Xinhua ระบุว่า นายหลิว เฮ่อ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจแห่งประเทศจีน ได้มีการพูดคุยผ่านทางโทรศัพท์ร่วมกับนายสตีเว่น มนูชิน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ และนายโรเบิร์ต ไรท์ไฮเซอร์ ตัวแทนการค้าแห่งสหรัฐฯ เกี่ยวกับ ”แผนการดำเนินงานในขั้นตอนถัดไป” โดยไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมแต่อย่างใด

· นายสเตปเฟน บีเอแกน เอกอัคราชทูตสหรัฐฯประจำเกาหลีเหนือ กล่าวว่า การดำเนินการทางทูตร่วมกับเกาหลีเหนือยังคงดำเนินต่ออย่างเข้มข้น แม้ว่าการประชุมร่วมกันระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ เมื่อเดือนที่ผ่านมา จะประสบความล้มเหลวก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ยังคงไม่แน่ใจว่าทางเกาหลีเหนือดำเนินการปลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างเคร่งครัดและไม่มีแผนที่จะก่อสร้างสถานที่พัฒนาขีปนาวุธหรือไม่ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็กำลังจับตาเกาหลีเหนืออย่างใกล้ชิด

· Morgan Stanley คาด ผลประกอบการของบรรดาตลาดเกิดใหม่มีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นได้ถึง 8% ภายในปี 2019เนื่องจากปัจจัยหนุนหลายประการ โดยเฉพาะจากตลาดหุ้นจีนที่น่าจะมีผลประกอบการที่แข็งแกร่ง และราคาของทองแดงที่จะปรับตัวสูงขึ้น

นอกจากนี้ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน เริ่มที่จะส่งผลลัพธ์ต่อเศรษฐกิจดีขึ้นกว่าที่เคยคาดการณ์เอาไว้ ซึ่งจะเห็นได้จากปริมาณการปล่อยกู้ในประเทศจีนที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ อีกทั้งตลาดจีนยังมีสภาพคล่องอยุ่ในระดับที่แข็งแกร่ง

ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจจีนแข็งแกร่ง เศรษฐกิจอื่นๆในภูมิภาคเอเชีย (และทั่วโลก) จึงมีแนวโน้มที่จะได้รับแรงหนุนจากขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและปริมาณอุปสงค์ในด้านการบริการที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว จึงจะช่วยหนุนเศรษฐกิจทั่วภูมิภาคให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่งเช่นกัน

· ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น หลังซาอุดิอาราะเบียส่งสัญญาณว่ากลุ่มโอเปกอาจพิจารณาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันลงอีก ขณะที่การปรับขึ้นของราคายังคงถูกจำกัดจากปริมาณสต็อกน้ำมันสหรัฐฯที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้ ราคาสัญญาน้ำมันดิบ WTI ปรับสูงขึ้น 0.5% บริเวณ 57.08 เหรียญ ขณะที่ราคาสัญญาน้ำมันดิบ Brent ปรับสูงขึ้น 0.4% บริเวณ 66.82 เหรียญ

Bank of America Merrill Lynch คาดการณ์ ราคาน้ำมัน Brent ปีนี้จะปรับสูงขึ้นและเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 70 เหรียญ/บาร์เรล แม้จะมีความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกก็ตาม ขณะที่ราคาน้ำมัน WTI ก็จะปรับสูงขึ้นเช่นกัน แต่ด้วยอัตราต่ำกว่าที่บริเวณ 59 เหรียญ/บาร์เรล

บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com