• สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคค่ำ) ประจำวันที่ 11 มีนาคม 2562

    11 มีนาคม 2562 | Economic News
 

 · ค่าเงินดอลลาร์ปรับแข็งค่าขึ้นในวันนี้ หลังจากที่ปิดตลาดใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน เนื่องจากบรรดานักลงทุนมีการเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะ Safe-haven ป้องกันความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจทั่วโลก ขณะที่ค่าเงินปอนด์ยังคงอ่อนค่าลงต่อเนื่องจากความไม่แน่นอนของประเด็น Brexit

โดยดัชนีดอลลาร์แข็งค่า 0.1% บริเวณ 97.412 จุด เคลื่อนไหวห่างจากระดับสูงสุดของเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาที่ระดับ 97.710 จุดลงมาประมาณ 0.3% สำหรับภาพรวมรายปี ดัชนีสามารถปรับแข็งค่าขึ้นได้ 1.3%

ด้านค่าเงินยูโรค่อนข้างทรงตัวที่บริเวณ 1.1232 ดอลลาร์/ยูโร หลังจากที่ค่าเงินอ่อนค่าลงทำระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. ปี 2017 เมื่อวันพฤหัสบดี หลังการประชุมอีซีบีได้ส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน

นักวิเคราะห์จาก Mizuho Securities ระบุว่า การส่งสัญญาณถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของอีซีบี ประกอบกับข้อมูลทางการค้าที่อ่อนแอกว่าคาดจากประเทศจีน ได้ทำให้ความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกกลับมาครอบงำตลาดอีกครั้ง และถึงแม้เศรษฐกิจสหรัฐฯจะไม่ได้แข็งแกร่งเท่าไหร่นัก แต่เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจอื่นๆก็ถือได้ว่าแข็งแกร่งกว่า จึงทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่ามากกว่าค่าเงินอื่นๆ

ทั้งนี้ ตลาดค่าเงินในวันนี้ค่อนข้างซบเซา เนื่องจากตลาดกำลังรอการประกาศตัวเลขยอดค้าปลีกของสหรัฐฯที่จะประกาศคืนนี้ เวลาประมาณ 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย


· ค่าเงินยูโรได้อ่อนค่าลงอย่างหนักเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา หลังจากการประชุมอีซีบีที่มีมติคงอัตราดอกเบี้ย แต่ได้ประกาศนโยบายที่จะเข้ามาช่วยหนุนสภาพคล่องของตลาด เพื่อต่อสู้กับการชะลอตัวของเศรษฐกิจยูโรโซน นอกจากนี้ทางอีซีบียังได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเงินเฟ้อในปี 2019-2021 ลง พร้อมเตือนถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจขยายตัวรุนแรง ขณะที่การเลือกตั้งสภาอียูที่กำลังใกล้เข้ามาจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ทั่วโลกหันมาจับตาค่าเงินยูโร

ข้อมูลภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีที่จะประกาศในวันนี้ มีแนวโน้มที่จะออกมาอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาดไว้ เนื่องจากเศรษฐกิจเยอรมนีกำลังชะลอตัวลง ในขณะที่ยอดค้าปลีกของสหรับฯที่จะประกาศคืนนี้อาจออกมาเป็นที่ผิดหวังต่อตลาดเช่นกัน เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่ออกมาในช่วงไม่กี่สัปดาห์นี้ ต่างอ่อนแอกว่าคาดการณ์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งส่วนหนึงเป็นผลกระทบมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งหากทิศทางของเศรษฐกิจยังคงดำเนินไปในลักษณะนี้ ก็มีความเป็นไปได้ที่เฟดจะเริ่มหันมาผ่อนคลายนโยบายทางการเงินในอนาคตอันใกล้ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่กดดันให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า

ในทางกลับกัน ค่าเงินดอลลาร์มีโอกาสที่จะได้รับแรงหนุนจากการเข้าซื้อในฐานะ Safe-haven ในขณะที่ความต้องการสินทรัพย์เสี่ยงอ่อนแอลงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นการเคลื่อนไหวที่มีลักษณะเฉพาะในช่วงนี้ แม้ปัจจัยเสี่ยงจะเกิดจากเศรษฐกิจสหรัฐฯเองก็ตาม การเข้าซื้อค่าเงินดอลลาร์เพื่อเป็น Safe-haven มักจะเห็นได้ชัดโดยเฉพาะช่วงที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่ความแข็งแกร่ง

· นายเบนัวท์ โควล์ (Benoit Coeure) สมาชิกบอร์ดบริหารของอีซีบี กล่าวว่า อีซีบีกำลังอยู่ในภาวะปรับปรุงนโยบายให้มีความเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวแต่ยังเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งเท่านั้น ไม่ได้มีแนวคิดที่จะยกเลิกนโยบายแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ยังมองว่าอัตราเงินเฟ้อยูโรโซนยังสามารถขยายตัวถึงเป้าหมายที่ 2% ได้ แต่อาจใช้เวลามากกว่าที่เคยคาดเอาไว้ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่อีซีบีจะยกเลิกแผนเข้าซื้อพันธบัตร หรือ QE ลงแต่อย่างใด

· นายเจอโรม โพเวลล์ ประธานเฟด ให้สัมภาษณ์ออกอากาศทางโทรทัศน์กับสำนักข่าว CBS ได้กล่าวว่า เฟดยังไม่รู้สึกต้องเร่งรีบเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนโยบายแต่อย่างใด ในขณะที่เฟดกำลังจับตาดูท่าทีของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ส่งสัญญาณชะลอตัวลง และเริ่มส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน

โดยอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมและเป็น Neutral แล้ว อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ คือการชะลอตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนและจีน ที่อาจกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันเศรษฐกิจสหรัฐฯได้ แม้นายโพเวลล์จะไม่ได้คาดการณ์ว่าทั้งสองเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงอย่างรุนแรงเท่าไหร่ก็ตาม

· อัตราการผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนี ประกาศออกมาเป็นที่ผิดหวังต่อตลาด โดยชะลอตัวลงต่อเนื่องในเดือน ม.ค. จึงยิ่งตอกย้ำถึงทิศทางที่เศรษฐกิจเยอรมนีซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในยูโรโซนกำลังชะลอตัวลง

โดยอัตราการผลิตประกาศออกมาที่ -0.8% ผิดกับคาดการณ์ที่คาดว่าจะขยายตัว 0.4% เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ชะลอตัว -0.4%

สำหรับภาพรวมรายปี อัตราการผลิตล่าสุดอยู่ที่ -3.3% เทียบกับภาพรวมเมื่อเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว ที่ระดับ 3.9%

· รายงานจาก The Times ระบุว่า นางเทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ กำลังถูกกดดันจากบรรดา ส.ส. อาวุโสให้พิจารณายกเลิกการลงมติในข้อตกลง Brexit ของเธอในคืนวันอังคารนี้ไปเสีย เนื่องจากมีท่าทีว่านางเมย์จะประสบความพ่ายแพ้อย่างยับเยิน

· รัฐมนตรีชั้นผู้น้อยประจำกระทรวงอุตสาหกรรมของอิตาลีระบุว่า อิตาลีจะเข้าร่วมโครงการ Belt and Road initiative ของจีน หลังจากที่รัฐบาลสามารถยืนยันได้ว่าแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของทั้งอียูและสหรัฐฯ จะไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่น่าพึงพอใจได้

ถ้อยแถลงดังกล่าวเกิดขึ้นหลังที่ปรึกษาประจำทำเนียบขาวของสหรัฐฯ กล่าวตำหนิโครงการ Belt and Road initiative ว่าเป็นโครงการไร้สาระที่อิตาลีควรหลีกเลี่ยง

· อินเดียจะจัดการเลือกตั้งทั่วไปในขั้นตอนแรกจากทั้งหมด 7 ขั้นตอนในวันที่ 11 เม.ย. ซึ่งจะเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งสำคัญของอินเดีย ในขณะที่นายนเรนทระ โมธี นายกรัฐมนตรีอินเดียคนปัจจุบัน กำลังได้รับเสียงสนับสนุนที่แข็งแกร่ง จากประเด็นความขัดแย้งระหว่างอินเดีย-ปากีสถาน ที่รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ไม่ให้ขยายความรุนแรงได้

ทั้งนี้ ขั้นตอนการเลือกตั้งที่เหลืออีก 6 ขั้นตอน ยังไม่มีการประกาศวันที่ออกมาอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด

· ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูง โดยได้รับแรงหนุนจากถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ระบว่า นโยบายปรับลดกำลังผลิตของกลุ่มโอเปกจะยังคงอยู่ไปจนถึงเดือนมิ.ย. ประกอบกับการรายงานที่ว่าปริมาณการขุดเจาะน้ำมันสหรัฐฯเริ่มลดลง

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบWTI เพิ่มขึ้น 0.5% ที่ระดับ 56.36 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ Brent เพิ่มขึ้น 0.4% ที่ระดับ 65.02 เหรียญ/บาร์เรล

บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com