• สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคเช้า) ประจำวันที่ 7 มีนาคม 2562

    7 มีนาคม 2562 | Economic News

· ค่าเงินแคนาดาและออสเตรเลียดอลลาร์ร่วงลงทำระดับต่ำสุดรอบ 2 เดือน ท่ามกลางเหล่าเทรดเดอร์ที่มีมุมมองว่าการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางแคนาดาและธนาคารกลางออสเตรเลียจะยังปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยคงเดิม หรืออาจเห็นการปรับลดดอกเบี้ยลงได้หากว่าเศรษฐกิจของพวกเขายังคงอ่อนตัว

โดยเมื่อวานนี้ BoC ระบุว่า มีความไม่แน่นอนมากขึ้นเกี่ยวกับกรอบเวลาการขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต จึงยังคงดอกเบี้ยไว้ตามคาด ขณะที่ธนาคารกลางออสเตรเลีย กล่าวว่า เศรษฐกิจภายในประเทศมีการขยายตัวได้เพียง 0.2% ในไตรมาสที่ 4/2018 ซึ่งน้อยกว่าที่ผลสำรวจนักวิเคราะห์จากรอยเตอร์สคาดการณ์ไว้ที่ 0.3% ประกอบกับข้อมูลจีดีพีก็ดูจะผิดเป้าจากที่ธนาคารกลางคาดหวังไว้ ดังนั้น เราจึงอาจเห็นการปรับลดอกเบี้ยตามมาได้

ค่าเงินแคนาดาดอลลาร์ปรับตัวลงแตะ 1.3457 หลังจากที่ทราบถ้อยแถลงข้างต้น และถือเป็นระดับอ่อนค่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับดอลลาร์นับตั้งแต่ 4 ม.ค. ก่อนที่ภาพรวมจะปิด -0.55% ที่ 1.3424 ดอลลาร์แคนาดา ทางด้านค่าเงินออสเตรเลียดอลลาร์อ่อนค่าลง 0.76% ที่ 0.7028 ดอลลาร์ออสเตรเลีย หลังจากที่ระหว่างวันไปทำระดับอ่อนค่ามากที่สุดรอบ 2 เดือน บริเวณ 0.7021 ดอลลาร์ออสเตรเลีย

· ด้านดัชนีดอลลาร์ทรงตัวเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ หลังจากที่รายงานสภาพเศรษฐกิจของเฟดหรือ Beige Book แสดงให้เห็นว่า ปัญหาภาษีการค้า (Trade War) รวมทั้งภาวะ Shutdown ที่ยาวนานที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ 35 วัน ได้ส่งผลลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯในช่วงต้นปีนี้ ขณะที่การประชุมเฟดที่ผ่านมาในเดือนม.ค. ก็ดูจะส่งผลให้การเคลื่อนไหวระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯและพันธบัตรในประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนาเคลื่อนไหวแตกต่างกันค่อนข้างมาก อาทิ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯอายุ 10 ปี ที่อยู่สูงกว่าพันธบัตรเยอรมนีอายุ 10 ปี ประมาณ 256 basis points

· นักลงทุนยังคงมองว่าค่าเงินดอลลาร์อยู่ในทิศทางแข็งค่า แม้ว่าจะมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับ Brexit และการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน โดยดัชนีดอลลาร์ยังทรงตัวที่ 96.85 จุด ด้านค่าเงินยูโรมีการรีบาวน์กลับมาเหนือ 1.13 ดอลลาร์/ยูโร หลังจากที่ไปทำระดับต่ำสุดรอบ 2 สัปดาห์ที่ 1.12855 ดอลลาร์/ยูโร

· นักวิเคราะห์คาดว่าจะเห็นการเซอร์ไพร์สเพียงเล็กน้อยจากประชุมอีซีบีในวันนี้ ท่ามกลางส่วนใหญ่ที่มองว่าอีซีบีน่าจะมีการอัดฉีดวงเงินกู้ครั้งใหม่ให้แก่ภาคธนาคาร ตลาดจนเรื่อง TLTROs

· ผลสำรวจนักกลยุทธ์ค่าเงินจากรอยเตอร์ส ระบุว่า ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าลงประมาณ 9% เมื่อเทียบดอลลาร์และมีการซื้อขายต่ำกว่า 1.2 ดอลลาร์/ปอนด์ หลังจากที่อังกฤษมีแนวโน้มจะออกจากอียูโดยปราศจากข้อตกลง

ทั้งนี้ บรรดานักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ คาดหวังว่า หากเกิดข้อตกลงทางการค้าได้ก็มีโอกาสจะเห็นเงินปอนด์แข็งค่ากลับมาที่ 1.32 ดอลลาร์/ปอนด์ได้ในช่วงปลายเดือนนี้ ซึ่งเป็นการออกจากอียูอย่างเป็นทางการ

· ตัวแทนการเจรจา Brexit จากฝั่งอียูระบุว่า การเจรจา Brexit ร่วมกับตัวแทนจากอังกฤษยังคงไร้ความคืบหน้า และไม่มีท่าทีที่ทั้งสองฝ่ายจะสามารถแก้ไขความแตกต่างได้ในเร็วๆนี้ ขณะที่ในสัปดาห์หน้า บรรดา ส.ส. ในรัฐสภาอังกฤษจะมีการลงมติเกี่ยวกับวิธีหลีกเลี่ยงการถอนตัวออกจากอียูแบบ No-deal

· ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชน “ชะลอตัว” ลงในเดือน ก.พ. โดยมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 183,000 ตำแหน่ง เทียบกับตัวเลขเดือน ม.ค. ที่ถูกแก้ไขใหม่เป็น 300,000 ตำแหน่ง ซึ่งการประกาศตัวเลขของเดือน ก.พ. ใกล้เคียงกับคาดการณ์นักวิเคราะห์ที่คาดไว้ 180,000 ตำแหน่ง

· นักวิเคราะห์จากสถาบัน Moody’s Analytics ระบุว่า การจ้างงานภาคเอกชน แม้จะชะลอการจ้างงานลง แต่ก็ถือว่ายังขยายตัวได้แข็งแกร่ง ขณะที่คาดการณ์ว่าอัตราจีดีพีเฉลี่ยรายปีของสหรัฐฯกำลังเคลื่อนไหวบริเวณ 0.3% ซึ่งถือว่าชะลอตัวลงมากจากระดับ 2.6% ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2018 ซึ่งการชะลอตัวลงครั้งนี้ จะค่อยเห็นผลที่ชัดเจนยิ่งขึ้นในข้อมูลการจ้างงานครั้งต่อๆไป

· กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เผย ยอดขาดดุลสหรัฐฯปี 2018 พุ่งแตะ 6.21 แสนล้านเหรียญ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 10 ปี ขณะที่ยอดขาดดุลเมื่อเทียบรายปีเพิ่มขึ้น 6.88 หมื่นล้านเหรียญ หรือคิดเป็น 12.5% ควบคู่กับภาวะขาดดุลในสินค้าและภาคบริการสุทธิในเดือนธ.ค. ที่ระดับ 5.98 หมื่นล้านเหรียญ หรือขาดดุลเพิ่มขึ้น 15.2% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่อยู่ที่ระดับ 5.19 หมื่นล้านเหรียญ

· รายงานจากเฟดสาขาแคนซัสระบุว่า เฟดกำลังพิจารณาหาจังหวะที่จะหยุดปรับลดพอร์ตงบดุล และจะเริ่มกลับมาเพิ่มพอร์ตงบดุลอีกครั้ง จึงทำให้ตลาดเกิดความกังวลว่า ภาคธนาคารพาณิชย์อาจต้องใช้ต้นทุนที่สูงขึ้นสำหรับการกู้ยืม และจะทำให้การปล่อยกู้ถูกจำกัดมากขึ้น

นอกจากนี้ ตลาดยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เคยทวีตข้อความเมื่อเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมาว่า เฟดควรหยุดปริมาณการปรับลดพอร์ตไว้ที่ 5 หมื่นล้านเหรียญ/เดือน ซึ่งปัจจุบันเฟดก็มีปริมาณการปรับลดพอร์ตไว้ที่ 5 หมื่นล้านเหรียญ/เดือน

· ราคาน้ำมันดิบเคลื่อนไหวผสมผสานในช่วงการซื้อขายที่เบาบาง หลังจากข้อมูลของรัฐบาลแสดงให้เห็นว่าปริมาณสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐรายสัปดาห์ที่เพิ่มขึ้น จึงช่วยชดเชยการลดลงของสินค้าคงเหลือน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ

ขณะที่ดัชนีหุ้นสหรัฐที่ลดลงส่งผลต่อความเชื่อมั่นในราคาน้ำมันดิบลดลงเช่นกัน

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดปรับตัวลง 34 เซนต์ ที่ระดับ 56.22 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ Brent ปิดปรับตัวสูงขึ้น 11 เซนต์ ที่ระดับ 65.97 เหรียญ/บาร์เรล

· รายงานของ EIA ระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐพุ่งขึ้น 7.1 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 1 มี.ค. ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์จาก Reuters คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 1.2 ล้านบาร์เรล

บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com