• สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคค่ำ) ประจำวันที่ 25 มกราคม 2562

    25 มกราคม 2562 | Economic News
\
·         ค่าเงินปอนด์อังกฤษปรับแข็งค่าขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 11 สัปดาห์ หลังรายงานจากสำนักข่าว The sun ระบุว่าว่าพรรค Democratic Unionist Party ที่เป็นพรรคตัวแทนชาวไอร์แลนด์เหนือในรัฐสภาของสหราชอาณาจักร อาจตัดสินใจให้การสนับสนุนข้อตกลง Brexit ของนายกรัฐมนตรีเทเรซ่า เมย์ ในสัปดาห์หน้า

โดยค่าเงินปอนด์แข็งค่าได้ 1.8% ในภาพรวมสัปดาห์นี้ เคลื่อนไหวเหนือระดับสำคัญทางเทคนิคที่ 1.30 ดอลลาร์/ปอนด์ ท่ามกลางความหวังว่าอังกฤษจะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะ No-deal Brexit ก่อนวันที่ 29 มี.ค.ได้

ทั้งนี้ หลังทราบรายงานข่าวดังกล่าว ค่าเงินปอนด์แข็งค่า 0.4% ที่บริเวณ 1.3114 ดอลลาร์/ปอนด์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของวันที่ 8 พ.ย.

·         นักวิเคราะห์จาก CMC Markets คาดการณ์ว่า หากรายงานดังกล่าวเป็นความจริง จะมีโอกาสได้เห็นค่าเงินปอนด์แข็งค่าไปได้ถึงระดับ 1.32 ดอลลาร์/ปอนด์ รวมถึงมีโอกาสที่จะ Breakout ไปได้ถึงบริเวณ 1.38 ดอลลาร์/ปอนด์

·         ด้านค่าเงินยูโรปรับแข็งค่าขึ้น 0.1% บริเวณ 1.1321 ดอลลาร์/ยูโร ขณะที่ภาพรวมระยะยาวของยูโรมีความอ่อนแอ หลังอีซีบีเมื่อวานนี้ มีการส่งสัญญาณเตือนถึงแนวโน้มที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้นี้ มีแนวโน้มที่จะประกาศออกมาอ่อนแอ

·         ดัชนีดอลลาร์อ่อนค่า 0.19% บริเวณ 96.41 จุด ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า 0.16% เมื่อเทียบกับเงินเยน ที่บริเวณ 109.8 เยน/ดอลลาร์ แม้จะมีความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่แรงเข้าซื้อค่าเงินเยนในฐานะ Safe-haven วันนี้ค่อนข้างซบเซา

·         ค่าเงินออสเตรเลียดอลลาร์ปัจจุบันทรงตัวที่ 0.7108 หลังจากที่ไปทำระดับอ่อนค่ามากที่สุดรอบ 3 สัปดาห์บริเวณ 0.7076 และดูเหมือนจะแข็งค่าต่อได้ดีในตลาดเอเชีย

ค่าเงินออสเตรเลียดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเหนือ 0.71 จึงยืนยันสัญญาณ Bullish Divergence ที่เกิดขึ้นใน RSI และหาก Break 0.7115 ไปได้ ก็มีโอกาสจะเห็นค่าเงินพุ่งไปที่0.7140

อย่างไรก็ดี การจะยืนเหนือ 0.7115 ก็อาจไม่ใช่เรื่องง่าย ท่ามกลางโอกาสที่จะเห็นธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ที่จะทำการปรับลดโอกาสการขึ้นดอกเบี้ย

·         ท่ามกลางเศรษฐกิจของเวเนซุเอลาที่ตกอยู่ในภาวะวิกฤติจากปัญหาภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็น การคอรัปชั่น ความขัดแย้งทางสังคม และความผันผวนของตลาดน้ำมัน วิกฤติดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะขยายความรุนยแรงยิ่งขึ้น หลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ประกาศให้การสนับสนุนหัวหน้าฝ่ายค้าน แทนที่จะเป็นนายนิโคลัส มาดูโร ประธานาธิบดีเวเนซุเอลา

ขณะที่นายมาดูโรออกมาต่อต้านนายทรัมป์โดยประกาศว่าตนเองเป็น ประธานาธิบดีของเวเนซุเอลาเพียงคนเดียว และรัฐบาลจะไม่ยอมให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยด้วยการรัฐประหารเหมือนในช่วงศตวรรษที่ 20” พร้อมประกาศให้เจ้าหน้าที่สหรัฐฯเร่งเดินทางออกจากเวเนซุเอลาภายในเวลา 72 ช.ม.

ซึ่งทางกระทรวงต่างประเทศแห่งสหรัฐฯได้ออกมาประกาศจะเมินเฉยต่อคำสั่งดังกล่าวของนายมาดูโร เนื่องจากสหรัฐฯมองว่านายมาดูโรไม่มีอำนาจที่จะสามารถสั่งตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐฯได้

ทางด้านนายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่าสหรัฐฯพร้อมที่จะมอบงบประมาณช่วยเหลือให้กับเวเนซุเอลาเป็นมูลค่า 20 ล้านเหรียญ โดยเฉพาะปัญหาความขาดแคลนอาหารและยา

ทั้งนี้ ทาง Atlantic Council ระบุว่าสถานการณ์ในอนาคตจะขึ้นอยู่กับการตอบโต้ของนายมาดูโร และเนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันมีต่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น การเคลื่อนไหวที่ไม่เหมาะสมใดๆจากนายมาดูโร ก็อาจเผชิญกับการโต้กลับของนานาประเทศ

·         ผลสำรวจจาก Reuters ระบุว่า ยอดการผลิตของญี่ปุ่นประจำเดือนธ.ค. ถูกคาดว่าจะปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 โดยจะลดลงอีก 0.4% หลังจากที่ลดลง 1.0% ในเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา จึงเป็นการส่งสัญญาณตอกย้ำถึงการชะลอตัวของปริมาณอุปสงค์ทั่วโลกและข้อจำกัดทางการค้าที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างมากในปีนี้

ท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจากข้อจำกัดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคธุรกิจต่าง ๆ กำลังเผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นในการรักษาอัตรากำไร ขณะที่ยอดส่งออกของญี่ปุ่นประจำเดือนธ.ค.ปรับลดลงมากที่สุดในรอบกว่าสองปี ท่ามกลางปริมาณอุปค์จากประเทศจีนที่อ่อนแอ

·         นายกิวเซปเป้ คอนติ นายกรัฐมนตรีอิตาลี กล่าวประนามเยอรมนีและฝรั่งเศส หลังที่ทั้ง 2 ประเทศมีการลงนามในข้อตกลงที่จะทำให้เยอรมนีมีที่นั่งของสภาอียูอย่างถาวร โดยระบุว่าเป็นเหยียดหยามทั้งอิตาลีและอียู และเห็นแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง

โดยเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา บรรดาผู้นำประเทศของฝรั่งเศสและอิตาลีได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาฉบับใหม่ ที่จะมอบในการสิทธิ์พิเศษในการพิจารณาตัวแทนจากประเทศเยอรมนี-ฝรั่งเศส ให้สามารถเข้ารับตำแหน่งคณะกรรมการในสภาอียูได้แบบถาวร

·         รายงานจาก Reuters ระบุว่า ยอดขนส่งสินค้าแห้งทั่วโลก รวมทั้งวัตถุดิบและสินค้าที่ผ่านกระบวนแล้ว ต่างปรับร่วงลงตลอดช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสัญญาณที่ตอกย้ำถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก

โดยดัชนี Baltic Dry ที่วัดยอดขนส่งสินค้าในกลุ่มวัตถุดิบต่างๆ รวมทั้ง แร่เหล็กและถ่านหิน ได้ปรับร่วงลงถึง 47% ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2018 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นช่วงที่ประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนกำลังขยายตัวจากการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากอีกฝ่าย

การขนส่งสินค้าแห้งมักถูกใช้เป็นปัจจัยชี้วัดทางเศรษฐกิจ เนื่องจากสินค้าในกลุ่มนี้มักถูกใช้ในกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมตั้งแต่การผลิตโลหะไปจนถึงพลังงาน ซึ่งนักวิเคราะห์จาก ANZ ได้เคยกล่าวไว้ว่า การชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรมบ่งชี้ถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจ

สถาบัน Commodore Research ระบุว่า แม้ว่ายอดขนส่งสินค้าแห้งมักจะมีการชะลอตัวลงบ้างในช่วงต้นปี แต่ไม่เคยชะลอตัวด้วยอัตราระดับนี้มาก่อน จึงยิ่งตอกย้ำว่าภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในระดับที่เลวร้าย

ขณะที่ Harpex Shipping ที่วัดการขนส่งผ่านจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ ได้ปรับลดลงถึง 30% นับตั้งแต่ในเดือน มิ.ย. ปี 2018

·         ธนาคารกลางจีน ระงับการดำเนินการทางตลาดเงิน (Open Market Operations - OMO) ติดต่อกันเป็นวันที่ 5 ในวันนี้ โดยระบุว่า สภาพคล่องในระบบการเงินยังมีเพียงพอ

ทั้งนี้ ข้อตกลง reverse repo ที่ครบกำหนดไถ่ถอนในวันนี้อยู่ที่ 1 หมื่นล้านหยวน (ประมาณ 1.47 พันล้านดอลลาร์) ซึ่งเท่ากับว่า PBOC ได้ระบายสภาพคล่องจากระบบการเงินในจำนวนเงินดังกล่าว

·         FX Street กล่าวว่า ทิศทางเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงเกินคาดในช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้ว ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นต่างๆมีข้อมูลออกมาที่น่าผิดหวัง ทั้งภาคอุตสาหกรรมและการค้าระหว่างประเทศ หรือแม้แต่ภาคบริการและยอดค้าปลีก โดยเฉพาะข้อมูลเศรษฐกิจจากยุโรปและจีน  จึงกดดันประเทศในภูมิภาคเอเชียด้วย และความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และความเสี่ยงทางการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มมากขึ้น ได้เข้ากดดันให้ตลาดการเงินตึงเครียดมากขึ้นในช่วงปลายปี 2018 โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว รวมทั้งตลาดหุ้นที่ปรับตัวลง และทำให้เกิดเม็ดเงินไหลเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัย ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลให้ธนาคารกลางใหญ่ๆ รวมทั้งเฟดต้องมีการดำเนินแผนงานด้วยท่าทีระมัดระวังมากขึ้นในการปรับนโยบายสู่ภาวะปกติ

คาดการณ์เศรษฐกิจใหม่ที่รายงาน FXStreet มองว่า ตลาดการเงินมีความผันผวนมากขึ้นในหลายๆประเทศตลอดช่วง 6 เดือนของปีนี้ และความไม่แน่นอนดังกล่าวเป็นผลมาจากข้อขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่ทั้งสองประเทศยังปราศจากข้อตกลงทางการค้าใดๆเพื่อแก้ไขปัญหาภาษีนำเข้าที่ต่างฝ่ายต่างเรียกเก็บซึ่งกันและกัน โดยมองว่าเศรษฐกิจโลกจะค่อยๆชะลอตัวลงจาก 3.6% ในปี 2018 สู่ระดับ 3.5% ในปี 2019 และ 3.4% ในปี 2020

เศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่ดูจะมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่เศรษฐกิจเอเชียมีแนวโน้มจะชะลอตัวลง โดยน่าจะอ่อนตัวลงจาก 6.6% ในปี 2018 สู่ระดับ 6% ปีนี้ และ 5.8% ในปี 2020

แถบประเทศลาตินอเมริกาอาจจะขยายตัวขึ้นได้จาก 1.6% ในปี 2018 ขณะที่ปี 2019 จะขยายตัวได้ 2.1% และ 2.4% ปี 2020

·         ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น ท่ามกลางแรงหนุนจากประเด็นความตึงเครียดทางการเมืองในเวเนซุเอลา เนื่องจากกังวลว่าอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณการส่งออกน้ำมันของเวเนซุเอลาในภายหลังได้ เนื่องจากสหรัฐฯมีการส่งสัญญาณอาจออกมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันเวเนซุเอลา

โดยราคาสัญญาน้ำมันดิบ Brent ปรับ -0.9% หรือ -53 เซนต์ บริเวณ 61.62 เหรียญ/บาร์เรล โดยแตะระดับสูงสุดภายในวันที่ระดับ 61.92 เหรียญ/บาร์เรล และมีแนวโน้มปิดตลาดรายสัปดาห์ลดลงไป 1.8% ซึ่งอาจเป็นการปิดตลาดในแดนลบสัปดาห์แรกในรอบ 4 สัปดาห์

ขณะที่ราคาสัญญาน้ำมันดิบ WTI ปรับสูงขึ้น +1.1% หรือ +57 เซนต์ ที่บริเวณ 53.70 เหรียญ  

นักวิเคราะห์จาก Vanda Insights ประเมินว่า ปริมาณส่งออกน้ำมันของเวเนซุเอลามีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงปีที่ผ่านมา และปัจจุบันกำลังเคลื่อนไหวอยู่แถวระดับ 1 ล้านบาร์เรล/วันเท่านั้น ตลาดจึงมีการตอบรับไปเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ประกอบการที่ภาวะอุปทานน้ำมันในตลาดก็ยังคงอยู่ในระดับที่สูงเกินไป โดยเฉพาะปริมาณน้ำมันจากสหรัฐฯ ที่ปรับสูงขึ้นกว่า 2 ล้านบาร์เรล/วัน ในปีที่ผ่านมา แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 11.9 ล้านบาร์เรล/วัน


บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com