• เงินเยนแข็งค่าท่ามกลางการชะลอตัวเศรษฐกิจโลกและข้อพิพาทการค้า

    23 มกราคม 2562 | Economic News

ค่าเงินเยนทรงตัวในระดับแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์เมื่อคืนนี้ ท่ามกลางความกังวลของตลาดที่มีต่อภาวะการชะลอตัวขอเงศรษฐกิจโลกและประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่กดดันปริมาณความต้องการสินทรัพย์เสี่ยง  

ขณะที่ปริมาณอุปสงค์ทั่วโลกที่อ่อนแอลง เป็นอีกปัจจัยที่อาจกดดันให้บีโอเจพิจารณาคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับผ่อนคลายแบบพิเศษหลังผลการประชุมวันนี้

ค่าเงินเยนที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นสินทรัพย์ Safe-haven ท่ามกลางภาวะที่ตลาดเผชิญกับความผันผวนหรือเศรษฐกิจชะลอตัว ได้ปรับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์เมื่อคืนนี้ ประมาณ 0.5บริเวณ 109.4 เยน/ดอลลาร์  

นักวิเคราะห์จาก CMC Markets ระบุว่า ปัจจัยหลักๆที่หนุนค่าเงินในตลาดช่วงนี้ คือความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและความตึงเครียดทางการค้า โดยค่าเงินเยนมีผลประกอบการที่แข็งแกร่งติดต่อกันมาตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ธ.ค.ดังนั้นค่าเงินเยนอาจมีการปรับฐานลงบ้างในเร็วๆนี้  

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา กองทุน IMF ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2019 และ 2020 โดยมีผลกระทบหลักๆมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและยูโรโซน และระบุว่าหากปัญหาทางการค้าไม่ถูกคลี่คลายลง เศรษฐกิจโลกก็อาจชะลอตัวลงยิ่งกว่านี้อีก

การเติบโตของเศรษฐกิจจีนในไตรมาสสุดท้ายของปี 2018 ขยายตัวได้ด้วยอัตราที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 1990 ขณะที่บรรดานักลงทุนตั้งความหวังไว้กับการเจรจาการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งที่เกิดจากการขึ้นภาษีสินค้านำเข้ากำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก

รายงานจาก Financial Times ระบุว่า สหรัฐฯมีการปฏิเสธประชุมร่วมกับจีนที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นการประชุมระหว่างทีมบริหารของนายทรัมป์ กับรองรัฐมนตรีจีนจำนวน 2 ราย จึงกดดันความเชื่อมั่นของตลาดลงเมื่อคืนที่ผ่านมา

อีกปัจจัยหนึ่งที่ตลาดยังคงเป็นกังวลและจับตาดูอย่างใกล้ชิด คือประเด็น Brexit โดยหลังจากสัปดาห์ก่อน ที่นางเทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษประสบความล้มเหลวในการลงมติข้อตกลง Brexit ด้วยคะแนนเสียงที่ย่ำแย่ที่สุดครั้งประวัติศาสตร์ ตลาดจึงกำลังจับตาดูว่า ทางรัฐสภาอังกฤษจะมีการเคลื่อนไหวเช่นไรเกี่ยวกับหนทางต่อไปของ Brexit

ขณะที่นักวิเคราะห์จาก BK Asset Management ระบุว่า ตลาดในปัจจุบันคาดการณ์ว่ามีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะ Hard Brexit มากที่สุด แต่โดยภาพรวมแล้วความผันผวนในตลาดเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวก็ยังมีอยู่มาก และหนทางต่อไปของBrexit ก็ยังไร้ความชัดเจน 


ที่มา: CNBC

บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com