• สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคค่ำ) ประจำวันที่ 11 ตุลาคม 2561

    11 ตุลาคม 2561 | Economic News
• ดัชนีดอลลาร์อ่อนค่าลง 0.31% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ที่ระดับ 95.21 จุด ลดลงจากระดับสูงสุดของเมื่อวานนี้ที่ 95.79 จุด ท่ามกลางความกังวลหลังหุ้นสหรัฐฯถูกเทขายลงมาอย่างหนักเมื่อคืนนี้ แม้ว่าค่าเงินดอลลาร์จะถูกมองเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในขณะที่เกิดเหตุผันผวนในตลาดก็ตาม

ด้านค่าเงินเยนแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ที่ระดับ 112.13 เยน/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับแข็งค่าที่สุดของเดือนนี้ โดยได้รับแรงหนุนจากการเข้าซื้อหลัง IMF ล่าวเตือนถึงความเสี่ยงในการเติบโตของเศรษฐกิจและระบบการเงินทั่วโลก

ขณะที่ค่าเงินยูโรแข็งค่า 0.35% บริเวณ 1.1566 ดอลลาร์/ยูโร หลังจากที่อ่อนค่าลงไปทำระดับต่ำสุดที่ 1.1477 ดอลลาร์/ยูโรเมื่อวานนี้

• นายจิม ยอง คิม ประธานธนาคารโลก แสดงความกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน และแนวโน้มที่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอาจรุนแรงขึ้นหากทุกประเทศยังคงทำการขึ้นภาษีตอบโต้กันไปมา โดยมีข้อความสำคัญดังต่อไปนี้ :

1. เศรษฐกิจจีนชะลอการเติบโต แต่การขยายตัวของเศรษฐกิจที่ระดับ 6.5% ยังถือว่าอยู่ในเกณ์ดี

2. รัฐบาลจีนมีความกังวลเกี่ยวกับการจัดการระดับหนี้สินภายในประเท

3. ระดับหนี้สินทั่วโลกที่ขยายตัวเป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างมาก

4. ยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจกับผลกระทบว่าประเทศที่เป็นซัพพลายเออร์ของจีนจะได้รับผลกระทบอย่างไรจาก Trade war

• รายงานจาก Reuter ระบุว่า นางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ กระตุ้นให้จีนปฏิบัติตามคำแนะนำของไอเอ็มเอฟ เพื่อดำเนินการไปสู่ระบบที่ช่วยให้ค่าเงินหยวนสามารถยืดหยุ่นได้

• นางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ กล่าวปกป้องประธานเฟด โดยระบุว่า นายเจอโรม โพเวลล์ ประธานเฟดดำเนินนโยบายการเงินตามข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ปรากฎจริง และตัดสินใจสื่อสารอย่างเหมาะสมให้ชัดเจนเท่านั้น ไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยด้วยความเสียสติตามที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯกล่าวตำหนิแต่อย่างใด

• ประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) แสดงความคิดเห็นว่า กำลังมีความกังวลต่อข้อขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในตลาด ที่อาจมีสัญญาณเพิ่มขึ้นว่าจะบั่นทอนการขยายตัวที่แท้จริงทางเศรษฐกิจ โดยความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้น แม้จะยังไม่รวมเรื่องการค้าด้านยานยนต์ ก็อาจบั่นทอนอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจีนลงไปได้ 1% ขณะที่สหรัฐฯจะได้รับผลกระทบ 0.2%

อย่างไรก็ดี หากความตึงเครียดทางการค้ายังดำเนินต่อไป เราอาจเห็นประชาชนเริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของระบบการค้าเสรีในเชิงพหุภาคีที่ทั่วโลกให้การยอมรับมาเป็นระยะเวลานาน รวมทั้งกระทบต่อภาวะห่วงโซ่อุปทานโลก และหากเราเริ่มกังวลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว นั่นจะเป็นผลกระทบครั้งใหญ่ต่อความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้บริโภคและภาคการลงทุน

ดังนั้น ประธาน ADB จึงเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายหันมาเจรจาเพื่อหารือต่อข้อตกลงและจัดการกับประเด็นดังกล่าว

• สมาชิกบอร์ดบริหารบีโอเจเตือน นโยบายเชิงกีดกันทางการค้าที่กำลังขยายตัวไปทั่วโลกอาจส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบได้ช้ากว่าเป้าหมายที่บีโอเจคาดการณ์ไว้

โดยบีโอเจคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะสามารถเติบโตได้ 1.5% สำหรับปีนี้จนถึงเดือนมี.ค. 2019 และ 0.8% สำหรับอีก 2 ปีให้หลัง
• นักวิเคราะห์จาก Nomura กล่าวว่า ข้อมูล CPI ของสหรัฐฯเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทุกสายตาของนักลงทุนจับต้อง โดยคืนนี้คาดว่าผลที่ออกมาจะอยู่ที่ระดับ 0.2% เมื่อเทียบรายเดือน ขณะที่ Core CPI คาดว่าจะขยายตัวได้เช่นเดิมประมาณ 0.2% ในเดือนก.ย. ขณะที่ในช่วง 12 เดือน คาดว่าจะปรับขึ้นได้ 2.304% ในเดือนก.ย. หรือประมาณ 2.3% จากข้อมูลเดิมในเดือนส.ค. ที่ระดับ 2.190%

ความสัมพันธ์ที่อ่อนตัวกันของ Core CPI ในเดือนส.ค. ก็มีแนวโน้มจะปรับตัวกลับขึ้นมาได้ ท่ามกลาง core PCE inflation ที่ปรับขึ้นใกล้หรือยืนเหนือ 2% เมื่อเทียบรายปี

• รายงานจาก Caixin ระบุว่า ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน (PBoC) กล่าวถึงอันดับความน่าเชื่อถือของการขยายตัวทางเศรษฐกิจจีนเป็นไปอย่างเหมาะสม ขณะที่เศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวได้ตามเป้าที่วางไว้

• นายเจมส์ บุลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ ระบุว่า ข้อตกลงด้านการค้า ไม่ว่าจะเป็น ข้อตกลงล่าสุดของ 3 ชาติ ระหว่างสหรัฐฯแคนาดาและเม็กซิโกจะช่วยลดความไม่แน่นอนเกี่ยวกับประเด็นทางการค้าและการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้

• กองทุน ESM Klaus Regling ระบุว่า ในปัจจุบันยังไม่มีความเสี่ยงว่าอิตาลีจะสูญเสียสิทธิในการเข้าถึงตลาด หรือจะถูกปรับลดความน่าเชื่อถือในการลงทุนแต่อย่างใด เนื่องจากเศรษฐกิจอิตาลียังคงมีความแข็งแกร่งมากพอ

• ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และทำระดับต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ ท่ามกลางความผันผวนของตลาดหุ้นทั่วโลก และปริมาณสต็อกน้ำมันสหรัฐฯที่ปรับสูงขึ้น ขณะที่ความกังวลเกี่ยวกับพายุเฮอริเคนไมเคิลเริ่มผ่อนคลายลงไป หลังพายุพัดเข้ารฐฟลอริด้าแต่ไม่ได้สร้างความเสียหายไปมากกว่าที่ตลาดกังวล

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับลดลง 1.32 เหรียญหรือ 1.6% ที่ระดับ 81.77 เหรียญ/บาร์เรล โดยทำระดับต่ำสุด 81.35 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดของวันที่ 27 ก.ย.

ทางด้านราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับลดลง 1.10 เหรียญหรือ 1.5% ที่ระดับ 72.07 เหรียญ

• นักวิเคราะห์จาก DailyFX วิเคราะห์ว่า ราคาน้ำมันดิบเริ่มฟอร์มตัวดีจากทิศทางขาลงในสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากที่ราคา Break หลุดต่ำกว่าระดับแนวรับ 72.88 และ 72.73 เหรียญ/บาร์เรล โดยหากหลุดลงมามีโอกาสเห็นราคาลงมาแถว 70.26 และ 70.05 เหรียญ/บาร์เรลได้ตามลำดับ แต่ภาพรวมระยะยาวยังดูเหมือนราคาน้ำมันจะทรงตัวได้ดี โดยหากกลับเหนือ 72.88 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับแนวต้านปัจจุบัน ก็มีโอกาสเห็นราคาผ่านขึ้นมาทดสอบแนว 75.00 และ 77.31 เหรียญ/บาร์เรล ได้

• รายงานจากบลูมเบิร์ก ระบุว่า ราคาน้ำมันดิบยังคงปรับตัวลงอย่างหนักในช่วง 2 วันทำการ โดยปรับลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ค. อันเป็นผลมาจากการร่วงลงของราคาดีเซลจนถึงแก๊สโซลีน ท่ามกลางความกังวลที่จะได้รับผลกระทบจาก Trade War

บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com