• สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคค่ำ) ประจำวันที่ 13 กันยายน 2561

    13 กันยายน 2561 | Economic News
• ค่าเงินหยวนแข็งค่า 0.3% ใกล้ระดับแข็งค่าที่สุดในรอบ 1 สัปดาห์ เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ที่บริเวณ 6.8450 หยวน/ดอลลาร์ หลังตลาดได้รับข่าวว่าสหรัฐฯต้องการเจรจาการค้ากับจีนใหม่อีกครั้ง แต่ตลาดหุ้นจีนยังคงเคลื่อนไหวแบบระมัดระวังเนื่องจากยังคงกังวลเกี่ยวกับผลลัพณ์ของการเจรจาครั้งใหม่นี้

ด้านดัชนีดอลลาร์เริ่มทรงตัวที่บริเวณ 94.795 จุด หลังจากปรับอ่อนค่าลงมา 0.5% เมื่อคืนนี้จากข่าวดังกล่าว

• ขณะที่ค่าเงินยูโรค่อนข้างทรงตัวบริเวณ 1.1638 ดอลลาร์/ยูโรหลังจากที่ปรับแข็งค่าขึ้นมาได้ 0.2% เมื่อคืนที่ผ่านมา โดยตลาดกำลังจับตาดูการประชุมของ ECB ที่เชื่อว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ รวมถึงส่งสัญญาณชี้นำว่าแผนการเข้าซื้อพันธบัตรจะยังคงสิ้นสุดภายในปีนี้ รวมถึงส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในช่วงเดือย ก.ย. – ต.ค. ปี 2019

• วิเคราะห์ค่าเงินยูโรทางเทคนิค : เกิดการ Breakout ในกราฟราย 4 ช.ม. อาจเป็นสัญญาณของการกลับตัวเป็นขาขึ้น

นักวิเคราะห์จาก FX Street ระบุว่า จากกราฟราย 4 ช.ม. ของค่าเงินยูโร/ดอลลาร์ (EUR/USD) จะเห็นได้ว่าค่าเงินมีการ Breakout เส้นเทรนแนวต้านขึ้นมา โดยอาจเห็นค่าเงินแข็งค่าไปได้ถึงระดับ $1.1733

ทั้งนี้ ข่าวที่สหรัฐฯอาจกลับมาเจรจากับจีนอีกครั้ง มีแนวโน้มที่จะช่วยหนุนให้ค่าเงินยูโรสามารถปรับแข็งค่าขึ้นได้อีก

• นางคริสเทีย ฟรีแลนด์ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศแห่งแคนาดา ระบุว่า รัฐบาลแคนาดาจะทำการชะลอการเจรจาภายใต้สนธิสัญญา NAFTA กับสหรัฐฯออกไปก่อน เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถรวบรวมข้อมูลและหารือภายในกันได้เต็มที่ก่อนที่จะเริ่มการเจรจากับสหรัฐฯอีกรอบ ท่ามกลางเดดไลน์ของการเจรจาที่ใกล้เข้ามาทุกขณะ

ทั้งนี้ รายงานฉบับก่อนหน้าได้ระบุว่า นางคริสเทีย มีกำหนดการจะเข้าเจรจากับนายโรเบิร์ต ไรท์ไฮเซอร์ ตัวแทนการค้าแห่งสหรัฐฯ ภายในวันพฤหัสบดีนี้

• นายนิโคลัส มาดูโร ประธานาธิบดีเวเนซุเอลา เตรียมเดินทางไปยังประเทศจีนอย่างเป็นทางการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเจรจาขอความช่วยเหลือด้านเงินกู้จากรัฐบาลจีน เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นภายในเวเนซุเอลา แต่ยังไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมแต่อย่างใด

• ยอดคำสั่งซื้อเครื่องจักรของญี่ปุ่นประจำเดือนก.ค.ปรับตัวสูงขึ้นเกินคาด ที่ระดับ 11% โดยฟื้นตัวจากการลดลงในช่วงก่อนหน้านี้ เพื่อกระชับมุมมองว่ารายจ่ายลงทุนจะขยายตัวต่อไปและช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม

• ผลสำรวจจาก Reuters ที่รวบรวมผลประกอบการของบรรดาบริษัทในภูมิภาคเอเชีย ยกเว้นญี่ปุ่น กว่า 4,000 บริษัท แสดงให้เห็นว่า ผลกำไรในไตรมาสที่ 2/2018 ของกลุ่มบริษัทดังกล่าวขยายตัวเพียง 12.98% ซึ่งเป็นการชะลอตัวติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 3 และยังเป็นอัตราขยายตัวที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย. ปี 2016 และยังมีแนวโน้มที่ผลประกอบการจะยังคงถูกกดดันต่อไป ท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน รวมทั้งความผันผวนของสกุลเงินตลาดเกิดใหม่

• ผลสำรวจ Reuters ที่ทำการสำรวจความคิดเห็นของบรรดาบริษัทสหรัฐฯที่ประกอบกิจการในประเทศจำนวนหลายร้อยบริษัท แสดงให้เห็นว่า บริษัทส่วนใหญ่เริ่มได้รับผลกระทบที่ “ชัดเจนและขยายตัวเป็นวงกว้าง”จากการประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนของสหรัฐฯ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯพิจารณานโยบายดังกล่าวใหม่อีกครั้

• รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศแห่งรัสเซีย ยืนยันถึงความมุ่งมุ่นของรัสเซียที่ต้องการยับยั้งความขัดแย้งทุกประการกับสหรัฐฯ และเชื่อมั่นต่อคำพูดของประธานาธิบดีสหรัฐฯที่เคยกล่าวว่าต้องการทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและรัสเซียกลับสู่ภาวะปกติ ถึงแม้กระแสต่อต้านรัสเซียในสหรัฐฯยังคงเป็นปัจจัยที่ขัดขวางการดำเนินการเช่นนั้นอยู่ก็ตาม

• กองทุน IMF ระบุว่า รัสเซียอาจได้รับประโยชน์จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกถ้าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายที่ระดับ 4%

• ท่ามกลางความกังวลว่ากระแสอุปทานน้ำมันอาจได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการค้าและความตึงเครียดทางการเมือง แต่กลุ่ม OPEC กลับมองว่าปริมาณอุปทานน้ำมันจะยังสามารถขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง

ในรายงานของกลุ่ม OPEC ได้คาดการณ์เบื้องต้นไว้ว่าปริมาณอุปทานน้ำมันทั่วโลกจะขยายตัวได้ 490,000 บาร์เรล/วัน ภายในเดือนส.ค. โดยขยายตัวจากเดือนก่อนหน้ารวมเป็น 98.9 ล้านบาร์เรล/วัน

• ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง ท่ามกลางความกังวลทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการเติบโตของความต้องการใช้เชื้อเพลิงอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลดลง ที่ระดับ 69.91 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ Brent ลดลง 0.5% ที่ระดับ 79.33 เหรียญ/บาร์เรล

บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com