· ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯปรับตัวขึ้น และมีกระแสคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นว่าเฟดจะตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่ค่าเงินปอนด์ร่วงลงใกล้ระดับต่ำสุดรอบ 2 สัปดาห์ จากท่าทีผ่อนคลายทางการเงินของบีโออี
ดัชนีดอลลาร์ปรับแข็งค่าขึ้น 0.28% ที่ระดับ 89.877 จุด และเมื่อวานนี้ขึ้นไปแตะระดับสูงสุดรอบ 1 สัปดาห์
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 2 ปี ปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ก.ย. ปี 2008 ที่ระดับ 2.436%
· ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจเมื่อไม่นานมานี้ทางด้านกิจกรรมภาคธุรกิจส่วนใหญ่ต่างก็ออกมาในระดับสูง จึงลดปริมาณความต้องการค่าเงินยูโร ค่าเงินเยน ค่าเงินปอนด์ และค่าเงินอื่นๆ ที่ต่างแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา
· เหล่าเทรดเดอร์ มองว่า ข้อมูลเศรษฐกิจทีสดใสของสหรัฐฯจะช่วยหนุนให้เฟดตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยได้อีก 2 ครั้งในปีนี้
· ค่าเงินยูโรปรับอ่อนค่าลง 0.21% ที่ระดับ 1.2346 ดอลลาร์/ยูโร ทางด้านค่าเงินเยนอ่อนค่าขึ้น 0.1% ที่ระดับ 107.34 เยน/ดอลลาร์
· นายมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการบีโออี กล่าวว่า ข้อมูลเศรษฐกิจมีความผสมผสานกันอาจส่งผลต่อมุมมองการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปของบีโออีได้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จึงลดกระแสคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยที่อาจเกิดขึ้นในกาประชุมเดือนพ.ค. แต่ก็ยังมีความเป็นไปได้ในการประชุมวาระอื่นๆของปีนี้ และท่าทีที่ผ่อนคลายทางการเงินได้กดดันให้ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าลงมา 0.85% ที่ระดับ 1.4085 ดอลลาร์/ปอนด์
· นางลอเร็ตต้า เมสเตอร์ ประธานเฟดสาขาเคฟแลนด์ กล่าวว่า เฟดควรดำเนินนโยบายปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในปีนี้และปีหน้า เพื่อรักษาทิศทางเศรษฐกิจจากภาวะ Overheating และความเสี่ยงทางเสถียรภาพการเงินที่กำลังเพิ่มขึ้น ซึ่งเฟดสามารถเร่งหรือค่อยๆขึ้นดอกเบี้ยได้ตามการปรับขึ้นของเงินเฟ้อ หรือภาวะตึงเครียดทางการค้าหรือการเมือง
· รายงาน "Global Financial Stability Report" ของกองทุน ไอเอ็มเอฟ กล่าวเตือนว่า ปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อระบบการเงินทั่วโลกกำลังเพิ่มขึ้นจากราคาสินทรัพย์เสี่ยงที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างร้อนแรง และกำลังเข้าสู่ภาวะฟองสบู่ ซึ่งคล้ายกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนที่จะเกิดวิกฤตการเงินโลก ทั้งนี้ ความเปราะบางทางการเงินมีสาเหตุมาจากภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเกินไป ประกอบกับความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาด
ขณะเดียวกัน ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ ชี้ว่า สงรครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนนั้นอาจไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ แต่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกด้วย ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจโลกปีนี้มีแนวโน้มจะขยายตัวได้เร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 2011 ที่ระดับ 3.9% แต่ก็อาจถูกบั่นทอนได้จากภาวะความตึงเครียดทางการค้าและระดับหนี้สินทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้นแตะระดับ 164 ล้านล้านเหรียญนั้น ถือเป็นระดับหนี้สินของภาครัฐฯที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ดังนั้นภาครัฐบาลควรที่จะดำเนินการเพื่อปรับลดระดับหนี้สินของประเทศตนเองในขณะที่เศรษฐกิจมีการขยายตัวได้ด้วยดี
· นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ กล่าวว่า มาตรการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้นอาจสร้างความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นได้ พร้อมกล่าวเตือนว่า ความเสียหายทางการค้าจะส่งผลเลวร้ายต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง
· รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของเยอรมนีเผยว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจเยอรมนีอาจชะลอตัวได้ในไตรมาสแรกแม้ว่าจะมีทิศทางเชิงบวกจากการขยายตัวที่แข็งแกร่งของอุปสงค์ภายในปรเทศและต่างประเทศก็ตาม
· เจ้าหน้าที่ระดับสูงของยูโรโซน กล่าวว่า ยูโรโซนและกองทุนไอเอ็มเอฟกำลังหารือต่อทางเลือกสำหรับระดับหนี้สินในอนาคตของกรีซที่จะมีการประชุมในสหรัฐฯสัปดาห์นี้ แต่ยังไม่ได้มีการตัดสินใจว่าจะขยายโครงการช่วยเหลือกรีซหรือไม่
· สหภาพยุโรปเปิดเผยว่า อาจพิจารณาเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรเวเนซูเอลา หากพบว่าความเป็นประชาธิปไตยภายในประเทศนั้นถูกบั่นทอนลง หลังจากที่ผู้นำเวลาซูเอลาได้เรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งภายในเดือนหน้า ขณะที่ฝ่ายค้านแย้งว่าอาจเกิดการคว่ำบาตรขึ้นภายในประเทศ
· นายจอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงประจำทำเนียบขาว ได้กล่าวกับเอกอัคราชทูตรัสเซีย ว่าการที่จะสามารถเยียวยาความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและรัสเซียให้กลับมาดีขึ้นได้ จำเป็นจะต้องคลี่คลายข้อต้องสงสัยที่ว่ารัสเซียได้มีการแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯเมื่อปี 2016 จริงหรือไม่ รวมถึง การโจมตีอดีตสายลับรัสเซียด้วยอาวุธเคมีในอังกฤษ และสถานการณ์ในยูเครนและซีเรีย
· สำนักข่าวรอยเตอร์ส เผยว่า ทางรัฐบาลสหรัฐฯได้รับรายงานว่า รัสเซียและซีเรียมีความพยายามที่จะเดินทางเข้าพื้นที่ของซีเรียถูกอาวุธเคมีโจมตี และ “ทำลายหลักฐาน” ที่เกี่ยวข้องกับการโจมตี แม้พื้นที่ดังกล่าวจะยังคงถูกปิดห้ามเข้าถึงโดยองค์การห้ามอาวุธเคมี (OPCW) นับตั้งแต่การโจมตีเมื่อวันที่ 7 เม.ย. ก็ตาม
· ขณะที่ล่าสุดรัฐบาลซีเรียกำลังเร่งดำเนินการเพื่อหาทางกำจัดฐานที่มั่นของกลุ่มกบฏให้หมดสิ้น หลังจากที่รัฐบาลสามารถยึดคืนเขตโกตาตะวันออก ซึ่งเป็นฐานที่มั่นที่ใหญ่ที่สุดของกลุ่มกบฎที่อยู่ใกล้กรุงดามัสกัส ด้วยการโจมตีทางอากาศอย่างหนักที่เกิดขึ้นภายในเดือน เม.ย. นี้
อย่างไรก็ตาม การโจมตีในเขตโกตา ถูกต้องสงสัยว่ารัฐบาลซีเรียได้มีการใช้อาวุธเคมี ซึ่งเป็นสิ่งที่นานาชาติมองว่าเป็นอาวุธที่ไร้ความเป็นมนุษยธรรม จึงส่งผลให้สหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศส ร่วมมือกันทำการโจมตีคลังเก็บอาวุธเคมีของซีเรียทั้ง 3 แห่งจนย่อยยับ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมานี้
· โฆษกประจำทำเนียบขาวเปิดเผยว่า ทางกระทรวงต่างประเทศไม่ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ เพื่อร่วมเดินทางไปพร้อมกับนายไมค์ ปอมเปโอ ผู้อำนวยการ CIA ในการประชุมลับกับนายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ แต่อย่างใด
· รายงานจาก Bloomberg เผยว่า นายมุน แจ-อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เห็นพ้องกับแนวความคิดในการยุติโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ หลังจากที่เมื่อวานนี้เกาหลีเหนือส่งสัญญาณเพิ่มเติมเกี่ยวกับความต้องการจะปลดอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ และไม่มีการกำหนดเงื่อนไขใดๆให้แก่ทางกองทัพสหรัฐฯในการถอนตัวออกจากพื้นที่เกาหลีใต้ก่อนแต่อย่างใด แต่นายมุน ก็มีการกล่าวเตือนให้ระมัดระวังเพราะการหาข้อตกลงใดๆร่วมกับ นายคิม จอง อึน ก็อาจเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร
· คณะกรรมาธิการวุฒิสภาสหรัฐฯจะทำการลงมติร่างกฎหมายเพื่อปกป้อง นายโรเบิร์ต มูลเลอร์ หัวหน้าคณะสืบสวนสอบสวนพิเศษกรณีรัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรํฐฯในปี 2016 แม้ว่าจะเผชิญเสียงคัดค้านจากสมาชิกพรรครีพับลิกันก็ตาม
· สหรัฐฯ แสดงความกังวลต่อความสามารถในการจัดเลือกตั้งฉุกเฉินของทางตุรกี ทั้งเลือกตั้งเสรีและเลือกตั้งกลาง หลังประธานาธิบดีตุรกีเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งในวันที่ 24 มิ.ย.นี้
· นายสตีเฟน มนูชิน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ กล่าว่า สหรัฐฯและกลุ่มประเทศเห็นพ้องกันที่สนับสนุนการบริหารจัดการ และปฏิเสธการติดสินบนต่อเจ้าหน้าที่ของเวเนซูเอล่า รวมไปถึงการให้การสนับสนุนการเชื่อมต่อโครงข่ายเพื่อเข้าถึงระบบการเงินนานาประเทศ
· อิหร่าน กล่าวเตือนสหรัฐฯว่า อาจเกิดเรื่องไม่คาดคิดหากสหรัฐฯถอนข้อตกลงนิวเคลียร์ ซึ่งอิหร่านมีหลายทางเลือกในการตอบโต้ หากสหรัฐฯถอนตัวจากข้อตกลงดังกล่าว
· ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นทำระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2014 จากภาวะอุปทานน้ำมันทั่วโลกที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ประกอบกับซาอุดิอาระเบียมีแนวโน้มจะผลักดันการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบ แม้ว่าข้อมูลสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯที่เพิ่มขึ้นจะเป็นปัจจัยที่เข้ากดดันให้ราคาน้ำมันช่วงปลายตลาดปิดลดลงเล็กน้อย
น้ำมันดิบ WTI ปิดลดลง 18 เซนต์ ที่ระดับ 68.29 เหรียญ/บาร์เรล หลังจากที่ขึ้นไปทำระดับสูงสุดบริเวณ 69.56 เหรียญ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ 28 พ.ย. 2014 และภาพรวมปรับตัวขึ้นได้เกือบ 8% ในช่วง 8 วันทำการที่ผ่านามา
น้ำมันดิบ Brent ปิดปรับขึ้น 30 เซนต์ ที่ระดับ 73.78 เหรียญ/บาร์เรล หลังขึ้นไปทำ High นับตั้งแต่ 27 พ.ย. 2014 บริเวณ 74.75 เหรียญ/บาร์เรล