• สรุปข่าวราคาทองคำ (ภาคเช้า) ประจำวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563

    18 พฤศจิกายน 2563 | Gold News

ทองคำแกว่งตัวกรอบแคบตามข่าวความหวังวัคซีน – ยอดติดเชื้อเพิ่ม

· ราคาทองคำตลาดโลกปรับตัวลง 0.2% ที่ 1,884.91 เหรียญ

· สัญญาทองคำส่งมอบเดือนธ.ค. ปิด -0.1% ที่ระดับ 1,885.10 เหรียญ ขณะที่สัญญาดังกล่าวในตลาด COMEX จะหมดอายุลงในวันที่ 27 พ.ย. 63

· ราคาทองคำปรับตัวลดลงและเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ ท่ามกลาง

- ดอลลาร์อ่อนค่า
- ความกังวลเรื่องยอดติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่เพิ่มสูงขึ้น
- ผลกระทบทางเศรษฐกิจเชิงบวกเกี่ยวกับการแข่งขันการส่งมอบวัคซีน

· กองทุน SPDR เมื่อวานนี้ทำการเทขายทองคำออก 8.02 ตัน โดยปัจจุบันถือครองทองคำที่ระดับ 1,226.3 ตัน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา

ภาพรวมเดือนพ.ย. ขายแล้ว 31.37 ตัน ซึ่งขายต่อเนื่องติดต่อกัน 2 เดือน และยังเป็นเป็นเดือนที่ขายมากสุดของปี แต่ภาพรวมปีนี้อยู่ในสถานะซื้อสุทธิที่ 333.05 ตัน ถือเป็นจำนวนรวมของการเข้าซื้อสุทธิมากสุดตั้งแต่ปี 2010

· ยอดค้าปลีกของสหรัฐฯที่ออกมาแย่เกินคาดในเดือนต.ค. ภาพรวมดูจะได้รับอานิสงส์จากการระบาดของไวรัสโคโรนาที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการใช้มาตรการคุมเข้มรอบใหม่ จึงเป็นปัจจัยที่จำกัดการปรับตัวลดลงของราคาทองคำ และกดดันดอลลาร์อ่อนค่าประมาณ 0.3%

· นักวิเคราะห์ฝ่ายการตลาดอาวุโสจาก OANDA กล่าวว่า ตลาดปราศจากเม็ดเงินลงทุนท่ไหลเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัย หลังจากมีข่าวดีเกี่ยวกับวัคซีน แม้ว่าสหรัฐฯ-ยุโรปกำลังเผชิญกับการระบาดของไวรัสโคโรนาอย่างหนัก

อย่างไรก็ดี ภาพระยะยาวของทองคำยังมีแนวโน้มจะขึ้นได้อีก แต่ระยะสั้นๆก็อาจมีการลดสถานะ Long ของกลุ่มนักลงทุนบ้าง แต่ข่าววัคซีนจากหลายๆที่ก็มีผลต่อการถือครองทองคำในระยะยาวลงบ้างเล็กน้อย


· หัวหน้านักกลยุทธ์จาก Blue Line Futures กล่าวว่า ราคาทองคำเคลื่อนไหวในกรอบ และมีการขึ้นอย่างจำกัด โดยมีระดับแนวต้านสำคัญที่ 1,900 เหรียญ ขณะที่แนวรับสำคัญอยู่ที่ 1,850 เหรียญ ขณะที่ภาพรวมทองคำยังมีปัจจัยหนุน จากคาดการณ์การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อในปีหน้าที่น่าจะเป็นไปอย่างร้อนแรง และเฟดน่าจะไม่ทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้


· ราคาซิลเวอร์ปิด -0.8% ที่ระดับ 24.54 เหรียญ/บาร์เรล ทางด้านราคาแพลทินัมปิด -0.4% ที่ระดับ 929.33 เหรียญ และราคาพลาเดียมปิด -0.7% ที่ 2,317.72 เหรียญ


· ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ เดือนต.ค. แย่กว่าคาด

ข้อมูลยอดค้าปลีกสหรัฐฯแย่กว่าคาดในเดือนต.ค. แตะ 0.3% ขณะที่ข้อมูลเดือนก.ย. ถูกปรับทบทวนให้ลดลงมาที่ 1.6% จากเดิม 1.9% และมีแนวโน้มที่อาจชะลอตัวลงมากขึ้นจาก

- ยอดติดเชื้อไวรัสโคโรนาในสหรัฐฯที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

- รายได้ภาคครัวเรือนลดลง

- ชาวอเมริกาว่างงานนับล้านราย

- การปราศจากมาตรการสนับสนุนทางการเงินของรัฐบาล


สำหรับข้อมูล Core Retail Sales หรือ ยอดค้าปลีกที่ไม่รวมกลุ่มยานยนต์, แก๊สโซลีน, อุปกรณ์ก่อสร้าง และการบริการด้านอาหาร ออกมาที่ 0.1% ในเดือนต.ค. ขณะที่ข้อมูลเดือนก.ย. ถูกปรับทบทวนมาที่ 0.9% (เดิม 1.4%)


· ยอดติดเชื้อไวรัสโคโรนาทั่วโลกปรับขึ้นใกล้ทะลุ 56 ล้านราย ล่าสุดอยู่ที่ 55.92 ล้านราย และมียอดเสียชีวิตสะสมที่ 1.34 ล้านราย

ยอดติดเชื้อสหรัฐฯพุ่งแตะ 11.69 ล้าน และเสียชีวิตสะสมสูงกว่า 254,250 ราย ท่ามกลางยอดติดเชื้อรายวันที่ปรับขึ้นทะลุ 100,000 รายต่อวัน นับตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพ.ย. ส่งผลให้รัฐบาลท้องถิ่นบางแห่งตัดสินใจกลับมาใช้มาตรการคุมเข้มในภาคธุรกิจรอบใหม่


· ฝรั่งเศสกลายเป็นประเทศแรกในยุโรปที่มียอดผู้ติดเชื้อทะลุ 2 ล้านราย ท่ามกลางจำนวนยอดติดเชื้อใหม่ในแถบยุโรปรวมกันสูงกว่า 14.5 ล้านราย คิดเป็นค่าเฉลี่ยที่สูงกว่า 26% ของยอดติดเชื้อทั้งหมดทั่วโลก


· เจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพระดับสูงของแคนาคา ชี้ แคนาดาคาดจะได้รับวัคซีน Covid-19 ในช่วงปลายปี 2021


· หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ เผย J&J คาดจะเปิดเผยข้อมูลวัคซีน Covid-19 ได้ประมาณช่วงเดือนก.พ.ปี 2021 โดยคาดว่าในช่วงสิ้นปีนี้ทางบริษัท Johnson & Johnson หรือ J&J จะสามารถเก็บข้อมูลผู้ร่วมทดสอบวัคซีนได้ 60,000 ราย และน่าจะเป็นสิ้นสุดพร้อมเผยประสิทธิภาของวัคซีนในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกของเดือนม.ค. หรือช่วงต้นเดือนก.พ.ในปีหน้า


· “ไบเดน” เตือน การเลื่อนการส่งมอบอำนาจอาจส่งผลต่อการรับมือวิกฤตไวรัสในสหรัฐฯ


· “มิทช์ แมคคอนเนล” ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐฯ เปิดกว้างเจรจากระตุ้นเศรษฐกิจในวงเงิน 5 แสนล้านเหรียญ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา


· ประธานเฟดส่งสัญญาณถึงการจะขยายโปรแกรมสินเชื่อฉุกเฉินออกไปจนถึง 31 ธ.ค.

นายเจอโรม โพเวลล์ ประธานเฟด กล่าวว่า ยังไม่ใช่ช่วงเวลาในการยุติโปรแกรมสินเชื่อฉุกเฉิน ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโคโรนาที่เพิ่มสูงขึ้น จึงทำให้เศรษฐกิจน่าจะใช้เวลานานมากขึ้นในการฟื้นตัว

ทั้งนี้ ประธานเฟดค่อนข้างชัดเจนที่จะขยายโปรแกรมสินเชื่อฉุกเฉินออกไปถึงสิ้นเดือนธ.ค.ปีนี้ ท่ามกลางการปราศจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากสภาคองเกรส จึงจำเป็นที่จะต้องขยายโครงการเพื่อช่วยเหลือรัฐบาลท้องถิ่น และถึงแม้จะมี“วัคซีน” ที่มีประสิทธิภาพคืบหน้ามากขึ้นในการช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจปีหน้า แต่ระหว่าง 2-3 เดือนจากนี้ก็ถือว่าอยู่ในช่วงที่ค่อนข้าง “ท้าทาย” อย่างมาก


· “ราฟาเอล บอสติก” ประธานเฟดสาขาแอตแลนต้า ชี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯเผชิญปัญหา ขณะที่ความหวัง “วัคซีน” จะเกิดขึ้นในระยะกลาง หลังข้อมูลยอดค้าปลีกออกมาแย่กว่าคาดและสร้างความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในระยะสั้นๆ อันเนื่องจากการระบาดของไวรัสโคโรนาในเวลานี้

ทั้งนี้ เมื่อวัคซีนสามารถผลิตได้สำเร็จก็น่าจะส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจในระยะกลาง และหนุนให้กลุ่มผู้บริโภคมีความตั้งใจที่จับจ่ายใช้สอยและซื้อของมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ในการประชุมเฟดระหว่าง 15 – 16 ธ.คง เฟดจะพิจารณาข้อมูลเศรษฐกิจทั้งหมดอย่างระมัดระวังและรอบคอบ หลังข้อมูลค้าปลีกยังอ่อนแอส่งสัญญาณถึงภาวะเศรษฐกิจที่ยังดิ่งในเชิงลึก

นักลงทุนบางส่วน คาดว่า การประชุมเฟดในวาระดังกล่าวจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนโยบายการเข้าซื้อพันธบัตรมากขึ้นเพื่อหนุนเศรษฐกิจที่ต้องเผชิญกับ Covid-19 เวลานี้


· บรรดากลุ่มการท่องเที่ยว ชี้ ค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวสหรัฐฯมีแนวโน้มร่วงลงในปีนี้ และไม่น่าจะฟื้นตัวได้อย่างเต็มรูปแบบจนถึงปี 2024

สมาคมการท่องเที่ยวสหรัฐฯ คาด ค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวปี 2020 จะอยู่ที่ 6.17 แสนล้านเหรียญ โดยลดลงจากคาดการณ์ในเดือนก.ค. ที่อยู่ที่ 6.22 แสนล้านเหรียญ เมื่อเทียบกับภาพรวมในปี 2019 ที่อยู่ที่ 1.13 ล้านล้านเหรียญ

หรือในปี 2020 คาดว่า จะมีค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวลดลง 5 แสนล้านเหรียญ

ทั้งหมดนี้ เป็นผลเชิงลบจากภาคธุรกิจท่องเที่ยวในกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ลดลงไปเกือบ 40% หรือ 3.5 ล้านราย พร้อมกล่าวเตือนว่าอาจเห็นการเลิกจ้างงานมากถึง 1 ล้านราย หากรัฐบาลยังไม่สามารถเพิ่มการช่วยเหลือทางการเงินได้ในสิ้นปีนี้


· Bill Gates คาด บริษัทด้านการท่องเที่ยวจะหายไปกว่า 50% หลัง Covid-19


· Goldman Sachs มีแผนลดพนักงานรอบ 2 อีกกว่า 400 ราย


· ผลกระทบอย่างเต็มรูปแบบของ Covid-19 ต่อภาคธนาคารยุโรปจะยังไม่ชัดเจนจนกว่าจะถึงปี 2021

เจ้าหน้าที่ภาคธนาคารระดับสูงของยุโรป ระบุว่า การระบาดของไวรัสโคโรนาจะส่งผลต่อสถาบันการเงินยุโรปได้ชัดเจนในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

ประธานบอร์ดบริหารของ Single Resolution Merchanism เล็งเห็นถึงความล้มเหลวในการปรับโครงสร้างของภาคธนาคารในยุโรป จึงคาดว่าน่าจะเห็นตัวเลขหนี้เสีย (NPLs) ในภูมิภาคเพิ่มขึ้นอย่างมาก ที่จะกลับมากระทบต่อยอดงบดุลของทางธนาคาร (Balance Sheet)

ขณะที่การสนับสนุนของรัฐบาลบางแห่งที่มีขึ้นตั้งแต่เกิดการระบาด ก็กำลังเริ่มหมดอายุลงไป ดังนั้น ผลกระทบเชิงลบต่อภาคธนาคารของยุโรป “จะเริ่มเห็นได้ชัดในข่วงปลายปี 2021”


· “ฮังการี-โปแลนด์” ขวางแพ็คเกจฟื้นฟูและงบอียูปี 2021-2027

ฮังการีและโปร์แลนด์ใช้สิทธิวีโต้ไม่ยอมรับแผนงบประมาณปี 2021-2027 และกองทุนฟื้นฟูตามข้อเสนอของรัฐบาลต่างๆของสหภาพยุโรป เนื่องด้วยกฎหมายงบประมาณ จะประกอบไปด้วยข้อกำหนดในการเข้าถึงวงเงินอย่างมีเงื่อนไขตามหลักนิติธรรม

เจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของฝรั่งเศส กล่าวว่า การใช้สิทธิวีโต้ดังกล่าวมีแนวโน้มจะทำให้การปล่อยแพ็คเกจงบ 1.8 ล้านล้านยูโร ภายใต้เงื่อนไขงบประมาณระยะยาวและจะส่งผลต่อแผนฟื้นฟูทางเศรษฐกิจด้วย แต่ไม่มีแนวโน้มจะเป็นอุปสรรคกับการดำเนินการในเรื่องอื่นๆ

ตัวแทนเจรจาของทางฝั่งอียู ยอมรับว่ายังไม่สามรถตกลงร่วมกันได้ แต่รัฐสภายุโรปค่อนข้างชัดเจนในเรื่องวงเงินและการเคารพตามข้อกฎหมาย

ทั้งนี้ ประธานสหภาพยุโรป แสดงความเห็นว่าว่า การเห็นชอบข้อเสนอดังกล่าว อันเนื่องจากใช้วิธีการโหวตเสียงข้างมากของมติที่ประชุมเป็นตัวชี้วัด การคัดค้านของทั้งสองประเทศข้างต้นอาจไม่สามารถยุติแนวทางที่ถูกยื่นเสนอได้ โดยจะเห็นได้ว่าเสียงส่วนใหญ่เป็นเอกฉันท์ในการโหวตร่างงบประมาณวงเงิน 1.1 ล้านล้านยูโร (8.8823 แสนล้านเหรียญ) ตามแพ็คเกจการฟื้นฟู

อย่างไรก็ดี การปราศจากความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ของทุกฝ่าย สำหรับแพ็คเกจ 1.8 ล้านล้านยูโร ก็อาจทำให้ไม่มีประเทศไหนสามารถรับเงินช่วยเหลือได้

ขณะเดียวกันผู้นำจากฮังการีและโปแลด์ก็ยังสร้างแรงกดดันกับประเทศอื่นๆถอนตัวจากข้อตกลงนี้ แต่ประเทศเนเธอร์แลนด์ยังประกาศกร้าวถึงความต้องการดำรงความสัมพันธ์ และพวกเขาจะไม่ทำการอนุมัติงบประมาณโดยปราศจากมติจากความเห็นชอบของทุกฝ่าย

หัวหน้ากลุ่มใหญ่ในสภายุโรป แสดงความคิดเห็นผ่านทางทวิตเตอร์ว่า การปฏิเสธกองทุนเยียวยาวิกฤติในยุโรปที่กำลังเป็นวิกฤติที่เลวร้ายที่สุดในรอบสิบกว่าปี


· รองผู้ว่าการ BOE คาด ตลาดมองโอกาสที่จะไม่เกิดข้อตกลงการค้าอียู-อังกฤษ ราว 20% หรือจะเกิด No-deal มีเพียง 20-30% เท่านั้น และมีเพียงโอกาส 1 ใน 5 เชื่อว่าทั้งสองฝ่าย “จะล้มเหลว” ในการทำข้อตกลงให้ได้ก่อน 31 ธ.ค. นี้


· เยอรมนีตำหนิรัสเซีย-จีน ที่ขวางการคว่ำบาตรพลังงานเกาหลีเหนือ ภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมาธิการ U.N.


· CNBC เผยข่าวเช้านี้ “ทรัมป์” ไล่ นายคริส เคิร์บส หัวหน้าฝ่ายความมั่นคงด้านไซเบอร์ของสหรัฐฯออกจากตำแหน่


· นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 30.10 - 30.25 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทอยู่ในกรอบแคบๆ การแข็งค่ายังอยู่ในระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับค่าเงินในภูมิภาค สำหรับข่าวเกี่ยวกับการชุมนุมเมื่อวานนี้ส่งผลกับตลาดหุ้นไทยมากกว่าตลาดเงิน แต่คงต้องรอดูสถานการณ์หลังจากนี้ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรรุนแรงหรือไม่

อย่างไรก็ดี ต้องติดตามการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันนี้ ซึ่งเชื่อว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิมที่ 0.50% แต่ต้องดูว่าจะมีการให้ความเห็นต่อทิศทางเศรษฐกิจ และการใช้เครื่องมือทางการเงินในระยะต่อไปอย่างไรบ้าง


· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์

- โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) วันนี้ จะมีการพิจารณาเรื่องต่ออายุพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าการพิจารณาต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ได้เป็นเหตุผลมาจากประเด็นทางการเมือง แต่เพื่อต้องการดูแลความปลอดภัยในด้านสาธารณสุขให้แก่ประชาชน

- โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่มีการประชุมร่วมรัฐสภา ในวันที่ 17-18 พ.ย.63 เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ รวม 7 ฉบับนั้น นายกรัฐมนตรี บอกว่า การรับร่างหรือไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว เป็นกระบวนการของทางรัฐสภา ซึ่งต้องเป็นดุลยพินิจของ ส.ส. และ ส.ว. ในการพิจารณาเนื้อหาว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใดที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด

- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า ตามที่จะมีการยุติการเผยแพร่อัตราดอกเบี้ย London Interbank Offered Rate (LIBOR) ภายในสิ้นปี 2564 และจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ย Thai Baht Interest Rate Fixing (THBFIX) ซึ่งคำนวณจากอัตราดอกเบี้ย LIBOR ต้องยุติไปด้วยนั้น จึงขอให้สถาบันการเงินทุกแห่งยุติการทำธุรกรรมใหม่ที่เป็นสินเชื่อ ตราสารหนี้ และหุ้น

กู้อนุพันธ์ ที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ย THBFIX ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เพื่อควบคุมปริมาณธุรกรรมคงค้าง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเปลี่ยนผ่าน

- ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังศาลปกครองสูงสุดนัดไต่สวน คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.ร่วมทุน ปี 62 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลาง กรณีมีคำสั่งทุเลาการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การประเมินโครงการของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 จากเดิมมีเกณฑ์กำหนดพิจารณาซองที่ 3 ด้านการเงิน 100 คะแนน ปรับเป็นข้อเสนอที่ 2 ด้านเทคนิค 30 คะแนน และด้านการเงิน 70 คะแนน

จากการยื่นอุทธรณ์คำสั่งทุเลาในครั้งนี้ จึงมีผลให้ รฟม.พิจารณาแล้วว่า กระบวนการคัดเลือกเอกชนร่วมทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มจะต้องชะลอไว้ก่อน โดย รฟม.จะยังไม่ดำเนินการเปิดซองข้อเสนอของเอกชน ที่ได้ยื่นข้อเสนอมาเมื่อวันที่ 9 พ.ย.63 เนื่องจากต้องการรอฟังคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดเพื่อกำหนดขั้นตอนดำเนินการต่อไป


· อ้างอิงจาก Thestandard

กนง. นัดประชุม 18 พ.ย. นี้ จับตาแผนรับมือ ‘เงินบาทแข็ง’

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะประชุมร่วมกัน ซึ่งถือเป็นการประชุมครั้งที่ 7 ในรอบปี 63 โดยตลาดคาดการณ์ว่า การประชุม กนง. ในครั้งนี้ ที่ประชุมน่าจะยังมีมติให้ ‘คง’ ดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5%

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องติดตามจากการประชุมครั้งนี้ คือท่าทีของ กนง. ที่มีต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยในระยะข้างหน้า หลังจากที่หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/63 แม้จะฟื้นตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ แต่ระยะข้างหน้าแล้ว การฟื้นตัวมีแนวโน้มชะลอลง

นอกจากนี้ การที่เงินบาทกลับมาแข็งค่าเร็ว โดยล่าสุดเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 30.16 บาท/ดอลลาร์ อาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคการส่งออก ซึ่งภาคการส่งออกในระยะข้างหน้าก็ยังมีประเด็นที่ต้องติดตาม จากการที่หลายประเทศในยุโรปเริ่มกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา


· อ้างอิงจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย

คาดประชุมกนง.18 พ.ย. 63 คงดอกเบี้ยที่ 0.50%...รอประเมินความต่อเนื่องของสัญญาณเศรษฐกิจฟื้น

- ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในการประชุม กนง. วันที่ 18 พฤศจิกายนนี้ คณะกรรมการฯ จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ตามเดิมเนื่องจากทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยดีกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ โดยข้อมูลจีดีพีประจำไตรมาสที่ 3/63 หดตัวลง 6.4% YoY เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ดีขึ้นจากที่หดตัวลง 12.1% YoY ในไตรมาสที่ 2/63 ขณะที่หลังปรับปัจจัยฤดูกาลออก เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/63 พลิกกลับมาขยายตัว 6.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นสัญญาณที่ตอกย้ำว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดของวิกฤตไวรัสโคโรนามาแล้ว

ดังนั้นประเมินว่า กนง. จะยังไม่พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินเพิ่มเติมในการประชุมรอบนี้ แต่จะเร่งเดินหน้ามาตรการอื่นที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย อาทิ มาตรการด้านการเงินและมาตรการด้านสินเชื่อเพื่อช่วยสนับสนุนสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจ และช่วยเสริมกลไกการทำงานของมาตรการกระตุ้นด้านการคลังได้

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า การแข็งค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาทนับตั้งแต่ต้นเดือนพ.ย. 63 จะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่กนง. จะต้องให้ความสำคัญมากขึ้นในการประชุมรอบนี้


· อ้างอิงจากสำนักข่าวเดลินิวส์

ลุ้นวัคซีนต้านโควิด ดันจีดีพีไทยปีหน้าสูงกว่า3.5%

- นายกําพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (อีไอซี) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ของปี 63 หดตัวน้อยลงหลังจากภาครัฐผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน และได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนภาครัฐ โดยในไตรมาสนี้ การใช้จ่ายเอกชนไม่รวมนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กลับมาขยายตัวถึง 3.8% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สะท้อนถึงอุปสงค์ในประเทศที่เริ่มมีการฟื้นตัว

ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากมาตรการช่วยเหลือภาครัฐที่ทยอยออกมาต่อเนื่อง เช่น โครงการกำลังใจ โครงการเราเที่ยวด้วยกันและมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง สำหรับการบริโภคและการลงทุนภาครัฐมีการขยายตัวสูงจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณในปี 63 ในขณะที่ภาคการส่งออกมีการฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวต่างชาติยังซบเซาจากการที่ยังไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศ และการลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัวสูง


บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com