• สรุปข่าวราคาทองคำ (ภาคเช้า) ประจำวันที่ 26 ตุลาคม 2563

    26 ตุลาคม 2563 | Gold News

ทองคำลงจากดอลลาร์ แต่ความไม่แน่นอนเลือกตั้งยังจำกัดการปรับลง

· ราคาทองคำปิดอ่อนตัวลงในคืนวันศุกร์จากการรีบาวน์ของดอลลาร์ แต่ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯยังคงช่วยจำกัดไม่ให้ทองคำปรับตัวลงมากกว่านี้


· ราคาทองคำตลาดโลกปิด -0.1% ที่ระดับ 1,903.07 เหรียญ ขณะที่สัญญาทองคำส่งมอบเดือนธ.ค. ปิดทรงตัวที่ 1,905.20 เหรียญ

· กองทุนทองคำ SPDR ขายทองคำออกติดต่อกัน4 วันทำการ รวมขาย 9.05 ตัน โดยล่าสุดวันพฤหัสบดีขายทอง 3.8 ตัน และวันศุกร์ขาย 2.75 ตัน (รวมช่วง 2 วันหยุดขาย 6.55 ตัน) ปัจจุบันถือครองทองคำที่ระดับ 1,263.80 เหรียญ

· เช้านี้ดัชนีดอลลาร์รีบาวน์เล็กน้อยมาแตะ 92.816 จุด จากที่ทำต่ำสุดสัปดาห์ที่แล้ว 92.8 จุด


· FXStreet ระบุว่า ทองคำยังมีแรงกดดันเช้านี้หลุดต่ำกว่า 1,900 เหรียญ ทำต่ำสุดแถว 1,891 เหรียญ ก่อนจะดีดกลับมาแถว 1,900 เหรียญ ภาพรวมตลาดทองเคลื่อนไหวในกรอบ รอลุ้นเลือกตั้งสหรัฐฯ ประกอบกับความไม่แน่นอนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ส่งผลกับราคาทองในลักษณะ “วัน-ต่อ-วัน”


· หัวหน้านักวิเคราะห์สินค้าโลหะมีค่าจาก BMO กล่าวว่า ราคาทองคำค่อนข้างเคลื่อนไหวจากดอลลาร์เป็นหลักในเวลานี้ และทองคำกลับลงมาสู่กรอบ 1,890 - 1,930 เหรียญในเวลานี้ และทุกๆการปรับลงก็มีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ต่อ

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าทุกครั้งที่ดอลลาร์อ่อนค่า ทองคำก็มีการปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่การดีเบตรอบสุดท้ายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ได้ทำให้เห็นข้อตกต่างมากนักของผลลัพธ์การเลือกตั้งที่ดูนายไบเดนจะสามารถชนะได้ และนั่นทำให้ทองคำอ่อนค่าลงมาเล็กน้อย รวมทั้งดอลลาร์ก็อ่อนค่าลงมาเล็กน้อย ขณะที่ภาพรวมสัปดาห์นี้ทองคำปรับตัวลดลงมาแล้วประมาณ 1%


· ประชาชนชาวอเมริกามีการส่งบัตรลงคะแนนผ่านทางไปรษณีย์แล้วไม่น้อยกว่า 50 ล้านคน และเหลือเวลาอีกประมาณ 10 วันก่อนเลือกตั้ง


· นักวิเคราะห์การตลาดจาก OANDA กล่าวว่า ราคราททองคำยัคงจับตารอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากสหรัฐฯเป็นสำคัญด้วย แต่มุมมองเชิงบวกก็ดูจะลดลงไป หลังจากที่นายคุดโลว์ ที่ปรึกษาเศรษฐกิจระดับสูงสหรัฐฯ ระบุว่า การเจรจายังไม่สามารถตกลงกันได้ จึงทำให้เราเห็นราคาทองคำอ่อนตัวลงมาในช่วงก่อนเลือกตั้ง

อย่างไรก็ดี กระแส Blue Wave ที่มาแรงในเวลานี้ก็ดูจะส่งสัญญาณถึงการจะเห็นการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ และนี่จะทำให้ทองคำมีโอกาสแตะ 2,000 เหรียญอีกครั้ง ขณะที่ไบเดนมีโอกาสชนะมากขึ้น ก็ดูเหมือนโอกาสที่รีพับลิกันจะครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาได้ก็ดูจะน้อยลงไป


· นายแลรี คุดโลว์ ผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐฯ กล่าวว่า การเจรจาข้อตกลงกระตุ้นเศรษฐกิจ "มีความเป็นไปได้" แต่ก็ยังมีข้อแตกต่างด้านนโยบายกับทางเดโมแครตที่ยังไม่มีแนวโน้มจะแก้ไขได้ และนี่ทำให้โอกาสเห็นการเกิดข้อตกลงได้ในช่วงสองสัปดาห์ก่อนการเลือกตั้ง


· นักวิเคราะห์จาก TD Securities ระบุว่า ทุกสายตาให้ความสำคัญกับการเลือกตั้ง และทองคำดูจะไม่เคลื่อนไหวนัก โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับใหม่ดูจะยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่หนุนให้ทองคำปรับขึ้นได้ต่อ ขณะที่โอกาสของกระแส Blue Wave ก็เป็นปัจจัยบวกต่อราคาทองคำเช่นกัน เนื่องจากดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าต่อ และน่าจะเห็นการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ได้ ที่อาจช่วยให้ภาพของทองคำระยะยาวเป็นขาขึ้น และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรมีแนวโน้มเป็นขาลงได้


· รายงานจาก Refinitiv เผย ธนาคารกลางเปลี่ยนสถานะมาทำการขายสุทธิครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปี ประมาณ 13 ตันในช่วงไตรมาสที่ 3 นี้ ท่ามกลางการปราศจากการเข้าซื้อของรัสเซีย - จีน และอีกหลายๆประเทศที่มีการขายทองออกมาเพื่อต่อสู้กับ Covid-19 และหนุนเศรษฐกิจ โดยความต้องการทองคำลดลงประมาณ 30% ที่ 562 ตัน เมื่อเทียบรายปีประจำช่วงไตรมาสที่ 3 จากสภาวะที่ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง


· ราคาซิลเวอร์ปิด -0.8% ที่ 24.55 เหรียญ แต่รายสัปดาห์ดูจะยังเป็นขาขึ้น ขณะที่ราคาแพลทินัมปิด +2% ที่ 904.36 เหรียญ และราคาพลาเดียมปิด +0.6% ที่ 2,389.07 เหรียญ


· เจรจากระตุ้นเศรษฐกิจไม่คืบ-ทรัมป์ตำหนิเพโลซียื้อเวลา

นางเพโลซี กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดข้อตกลงกระตุ้นเศรษฐกิจช่วง Covid-19 ให้ได้ก่อนเลือกตั้งในวันที่ 3 พ.ย. ขณะเดียวกัน นายทรัมป์ และนายมนูชิน ตำหนิว่า นางเพโลซีต้องประนีประนอมให้เกิดข้อตกลงแพ็คเกจช่วยเหลือ เนื่องจากยังมีความแตกต่างอย่างมากระหว่าง 2 ฝ่าย ซึ่งยังคงมีการเจรจากันต่อ

พร้อมกันนี้นายทรัมป์ เผยว่า ขณะนี้ก็ยังมีการเจรจากันต่อและเห็นทางที่จะเกิดขึ้นได้ แต่เขาคิดว่า นางเพโลซีกำลังยื้อเวลาจะรอหลังเลือกตั้ง ด้าน นายมนูชิน กล่าวเสริมว่า “ถ้านางเพโลซีต้องการประนีประนอม ก็จะเกิดข้อตกลงได้จริง”


· ยอดติดเชื้อใหม่ในสหรัฐฯช่วง 2 วันพุ่งหนักโดยวันศุกร์พบ 83,757 ราย ขณะที่วันเสาร์เพิ่ม 83,718 ราย ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ตอกย้ำมุมมองผู้เชี่ยวชาญสหรัฐฯจะเผชิญความยากลำบากช่วงฤดูหนาว และมีแนวโน้มเห็นยอดติดเชื้อเพิ่มขึ้นช่วงฤดูหนาวนี้ ขณะที่ยอดติดเชื้อไวรัสโคโรนาในสัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นประมาณ 5% กว่า 38 รัฐ

· ผลสำรวจของ CNN Poll ของกลุ่มผู้รับชมผ่านทางโทรทัศน์และกลุ่มผู้ที่ยังไม่ได้ตัดสินใจเลือกในรัฐนอร์ธ แคโรไลนา พบว่า นายโจ ไบเดน ผู้สมัครลงตำแน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯดูจะเป็นฝ่ายชนะในการดีเบตรอบสุดท้ายกับนายทรัมป์ โดยผู้รับชมทางโทรทัศน์กว่า 60% ให้ “ไบเดน” ชนะในครั้งนี้ ขณะที่ “ทรัมป์” มีเสียงสนับสนุน “53%”

ด้านผู้ร่วมตอบแบบสอบถามที่ยังไม่ได้ตัดสินใจลงคะแนนให้ใคร ระบุว่า
- นายทรัมป์ มีท่าทีที่มุ่งมั่นต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ
- นายไบเดน มีท่าทีมุ่งมั่นที่ย้ำเน้นถึง “ความเป็นหนึ่ง” ของสหรัฐฯ


· ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว

จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯในสัปดาห์ที่แล้วปรับตัวลงกว่า 55,000 ราย แตะระดับ 787,000 ราย ถือเป็นจำนวนที่ลดน้อยลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.

ทั้งนี้ การปรับตัวลงของข้อมูลล่าสุด สะท้อนว่าการว่างงานในสหรัฐฯมีทิศทางดีขึ้น และทิศทางเศรษฐกิจดูจะมีการฟื้นตัวได้จากภาวะขาลงจากวิกฤตไวรัสโคโรนา

ด้านยอดขายบ้านมือสองสหรัฐฯปรับขึ้นแตะ 9.4% ในเดือนก.ย. ทำสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2006

ค่าใช้จ่ายผู้บริโภคในเดือนก.ย. สูงขึ้นเช่นกัน แม้ว่าคนว่างงานภายในประเทศจะยังอยู่ระดับสูง โดยรวมยังมีคนตกงานกว่า 1 ล้านราย

บรรดานักเศรษฐศาสตร์ เริ่มกังวลว่า การระบาดของไวรัสที่เพิ่มขึ้นแทบทุกพื้นที่ในสหรัฐฯจะส่งผลให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจนั้นช้าลงมากขึ้น


· ยอดติดเชื้อไวรัสโคโรนาทั่วโลกล่าสุดทะลุ 43 ล้านราย มาอยู่ที่ 43.32 ล้านราย และยอดเสียชีวิตสะสมสูงกว่า 1.158 ล้านราย ด้านสหรัฐฯยังครองอันดับ 1 ที่มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกมากสุดสูงกว่า 8.88 ล้านราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มต่อเนื่องกว่า 230,507 ราย

· หัวหน้าเจ้าหน้าที่ประจำเนียบขาว ยอมรับไม่สามารถควบคุมการระบาดได้หลังยอดติดเชื้อทำสูงสุดประวัติการณ์

นายมาร์ค เมโดวส์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ประจำทำเนียบขาว กล่าวว่า สหรัฐฯจะไม่สามารถควบคุมการระบาดของไวรัสโคโรนาได้

หลังรายงานยอดติดเชื้อใหม่รายวันยังทำสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และเราจะสามารถควบคุมได้จริงๆก็ต่อเมื่อมีวัคซีน, กระบวนการรักษา และวิธีการอื่นๆ


· นายไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯจะไม่กักตัว แม้เขาและผู้ช่วยรวม 4 รายตรวจพบเชื้อ Covid-19


· WHO ห่วง บางประเทศจะเข้าสู่สัญญาณ “อันตราย” จากยอดติดเชื้อ COVID-19 ที่จะเริ่มสร้างแรงกดดันต่อระบบสุขภาพ


· FDA อนุมัติให้ Remdesivir ของบริษัท Gilead รักษาอาการไวรัสโคโรนา

องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) อนุมัติให้ใช้ตัวยาเรมเดอร์ซิเวอร์ (Remdesivir) ของบริษัท Gilead Sciences ในการรักษาผู้ป่วยไวรัสโคโรนาได้

“ถือเป็นครั้งแรกที่มีการอนุมัติตัวยาในการรักษา และส่งสัญญาณเชิงบวก”

กระบวนการรักษาด้วยตัวยาดังกล่าวเคยได้รับการอนุมัติฉุกเฉินในช่วงก่อน จึงทำให้ตามโรงพยาบาลมียาตัวนี้ใช้เพื่อรักษาผู้ป่วย


· คาด “ฝรั่งเศส” ระบาดหนักสุด หลังพบยอดผู้ติดเชื้อ Covid-19 ทะลุล้านราย

ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลฝรั่งเศส ชี้ ในช่วงฤดูใบไม้ผลินี้การระบาดของไวรัสโคโรนาในฝรั่งเศสดูจะขยายตัวได้อย่างรวดเร็วมากกว่าการระบาดในครั้งแรก และเป็นสัญญาณเตือนว่าอจจะระบาดมากที่สุดในยุโรป โดยล่าสุดพบผู้ติดเชื้อรายวันทำสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ที่ 41,622 ราย และแตะ 1 ล้านรายเป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา

นักวิทยาการระบาด กล่าวเตือนหลังจากที่รัฐมนตรีกระทรวงการคลังฝรั่งเศสชี้ว่า จีดีพีมีแนวโน้มหดตัวลงอีกครั้งในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ อันเป็นผลจากมาตรการเคอร์ฟิวส์ และการใช้มาตรการควบคุมต่างๆเพื่อจำกัดการระบาดของไวรัส


· สเปนประกาศเคอร์ฟิวส์หลังสถานการณ์ติดเชื้อในประเทศเลวร้ายขึ้น


· Reuters ชี้ เอเชียจะกลายเป็นภูมิภาคที่สองที่มียอดติดเชื้อทะลุ 10 ล้านราย แม้ว่ายอดระบาดในอินเดียจะชะลอตัวและมีทิศทางที่ปรับตัวลดลงก็ตาม


· เกาหลีเหนือ เตือนประชาชนให้อยู่แต่ในที่พักอาศัย คาดฝุ่นเหลืองจากจีนอาจเป็นตัวแพร่เชื้อ Covid-19 ได้


· กิจกรรมภาคธุรกิจยูโรโซนหดตัวจาก Second Wave ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

กิจกรรมภาคธุรกิจยูโรโซนขั้นต้นหรือ Flash PMI หดตัวทั้งภาคการผลิตและบริการในเดือนต.ค. ทำต่ำสุดรอบ 4 เดือนที่ระดับ 49.4 จุด จาก 50.4 จุดในเดือนก.ย. ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโคโรนาที่ทำให้ประเทศต่างๆในภูมิภาคกลับมาใช้มาตรการคุมเข้มอีกครั้ง

(ตัวเลขที่ต่ำกว่า 50 จุด สะท้อนภาวะหดตัว)

หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก IHS Markit ระบุว่า ยูโรโซนมีความเสี่ยงมากขึ้นเป็นสองเท่าที่จะเห็นเศรษฐกิจเป็นขาลงจาก Second Wave ที่ทำให้กิจกรรมภาคธุรกิจทรุดตัวอีกครั้งในเดือนต.ค.


· จีดีพีสิงคโปร์ Q3 ดิ่งหนักสุดรอบ 11 ปีจาก Covid-19 ที่กระทบอุปสงค์ด้าน Real Estate ที่เป็นศูนย์กลางธุรกิจของประเทศ


จีดีพีสิงคโปร์ Q3/2020 ออกมาที่ -4.5% ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งไตรมาสที่ปรับตัวลงหนักสุดนับตั้งแต่ช่วง Q2/2009 ที่ตอนนั่นมีจีดีพีที่ -7.7%


· รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพิจารณางบประมาณพิเศษมูลค่า 9.55 หมื่นล้านเหรียญ (10 ล้านล้านเยน) เพื่อต่อสู้วิกฤตไวรัสโคโรนาและขยายการช่วยเหลือแก่ภาคแรงงานจนถึงเดือนต.ค. รวมถึงเป็นงบสำหรับผลิตวัคซีน Covid-19


· ธนาคารกลางจีน ชี้ เงินหยวนจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้ และจะลดการจำกัดการใช้ค่าเงินหยวนทั่วโลก เนื่องจากจีนต้องการโปรโมตประเทศในฐานะ “อุตสาหกรรมบริการด้านการเงิน”


· เจ้าหน้าที่ระดับสูงจีนจะร่วมประชุมแผนประเทศช่วง 5 ปีข้างหน้ายในสัปดาห์นี้

นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน จะมีการประกาศแผนเชิงลึกถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจจีน โดยในวันที่ 26 – 29 ต.ค.นี้ จะมีการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน เพื่อหารือถึงข้อเสนอแนวทางการพัฒนาประเทศในช่วง 5 ปีข้างหน้าระหว่างปี 2021-2025

ทั้งนี้ รัฐบาลจะมีการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจและประเด็นพื้นฐานทางสังคมในทุกๆ 5 ปี ซึ่งวาระนี้ถือเป็นการประชุมแผนครั้งที่ 14 ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ค่อนข้างผันผวนจากการระบาดของไวรัสโคโรนาและความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่อาจเป็นหัวข้อหลักในการหารือโดยเฉพาะช่วงเวลาที่ยากลำบากในแถบเอเชียเวลานี้


· สหรัฐฯคว่ำบาตรสถาบันวิจัยรัสเซียที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เป็นอันตรายต่อภาคอุตสหากรรม


· สัปดาห์นี้ “ปอมเปโอ” เยือนเอเชีย คาดหนุนชาติพันธมิตรต้านจีน

นายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯมีกำหนดการมายังอินเดียในสัปดาห์นี้เพื่อเสริมกลยุทธ์การสานสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับนานาประเทศเพื่อต้านท่าทีทางการกับจีน


· สำนักข่าว AP รายงาน ตึงเครียดไทยยังอยู่ระดับสูง กลุ่มผู้ชุมนุมขีดเส้นตายนายกฯต้องลาออก ขณะที่คณะรัฐบาลของนายประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทยจะเริ่มเปิดประชุมรัฐสภาฯวาระพิเศษ เพื่อหาทางแก้ไขข้อแตกต่างโดยจะเริ่มในวันนี้


· นักบริหารการเงินคาด เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบแคบระหว่าง 31.00 – 31.50 บาท/ดอลลาร์ หลังวันพฤหัสบดีทำอ่อนค่ามากสุดรอบ 2 สัปดาห์ที่ 31.32 บาท/ดอลลาร์


ปัจจัยที่ต้องติดตาม
- สถานการณ์การเมืองในประเทศ
- ธปท. รายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนก.ย.
- มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ
- การเมืองสหรัฐฯ
- ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ: ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต.ค., รายจ่ายส่วนบุคคล, มาตรวัดเงินเฟ้อ Core PCE, ยอดขายบ้านที่รอปิดการขาย, ยอดขายบ้านใหม่, ยอคำสั่งซื้อสินค้าคงทนก.ย., คาดการณ์จีดีพีไตรมาส 3/20 ครั้งที่ 1 และดัชนีราคาบ้านส.ค.
- ประชุมอีซีบี
- ประชุมบีโอเจ


· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์

- ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทางการเงินของคนไทย ทำให้มีภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น โดยล่าสุดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยในไตรมาส 2/63 อยู่ที่ 83.8% ต่อจีพีดี หรือคิดเป็นมูล่า 13.58 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 62 ที่อยู่ในระดับ 80% ต่อจีดีพี หรือคิดเป็นมูลค่า 13.49 ล้านล้านบาท และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

- กระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนก.ย.63 โดยการส่งออกมีมูลค่า 19,621 ล้านเหรียญ หดตัว -3.86% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 17,391 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -9.08% ทำให้ดุลการค้าเกินดุล 2,230 ล้านเหรียญ

- อธิบดีกรมสรรพากร คงเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2564 ที่ 2.085 ล้านล้านบาท แต่จะสามารถจัดเก็บได้ตามเป้าหมายหรือไม่คงต้องขอพิจารณาสภาพแวดล้อม รวมถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) อยู่ระหว่างการประเมิน แต่เบื้องต้นคาดการณ์ว่าปี 64 เศรษฐกิจจะดีขึ้น ขณะที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ยังไม่มีนโยบายให้ปรับลดเป้าหมายดังกล่าวลง


· อ้างอิงข้อมูลจากฐานเศรษฐกิจ

- "อาคม" ยันแบงก์รัฐพร้อมช่วยเหลือลูกหนี้ 6.57 ล้านรายหลังสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้


- “ทรีนีตี้” คาดกำไรหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 4 แนวโน้มลดลง โดยจะอ่อนตัวลงอีกจากไตรมาส 3 หลังจากที่ได้ทยอยประกาศกันออกมาเกือบทั้งหมดแล้ว

เพราะจะได้รับผลจากค่าใช้จ่ายและการตั้งสำรองหนี้ที่จะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ทำให้มีความเสี่ยงด้านคุณภาพหนี้สูงขึ้น ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ระยะที่ 1 ของภาครัฐ ในส่วนพักชำระเงินต้นระยะเวลา 6 เดือนครบกำหนด ขณะที่ลูกหนี้บางส่วนที่พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยระยะเวลา 3 เดือนซึ่งได้พ้นระยะเวลาการพักชำระไปแล้วและได้มีการปรับโครงสร้างหนี้ต่อก็มีความเสี่ยงในเรื่องหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไหลย้อนกลับมาได้


- ธอส.อัดยาแรง ส่งโปรโมชันสินเชื่อบ้านดอกเบี้ยต่ำ


- ก.ล.ต.สั่งฟัน "อิง ภาสกรนที" พร้อมพวก อินไซด์ขายหุ้น ICHI

ก.ล.ต.ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 3 ราย กรณีอาศัยข้อมูลภายในขายหุ้น ICHI ได้แก่ (1) นายอภิชาติ สุขจิรวัฒน์ กรณีขายหุ้นบริษัทอิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (ICHI) โดยรู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน (2) นางอิง ภาสกรนที กรณีเปิดเผยข้อมูลภายในเกี่ยวกับ ICHI แก่บุคคลอื่น และช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ผู้อื่นในการขายหุ้น ICHI (3) นางสาวสุภาณี สุขพันธุ์ถาวร กรณีขายหุ้น ICHI โดยรู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน โดยให้ผู้กระทำความผิดทั้ง 3 รายชำระค่าปรับทางแพ่ง ส่งคืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิด และชดใช้ค่าใช้จ่ายเนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด รวมจำนวน 33,173,237.48 บาท และกำหนดระยะเวลาห้ามบุคคลทั้ง 3 รายเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร


· อ้างอิงจากกรุงเทพธุรกิจ

- ราชกิจจาฯ ประกาศรายงาน 'ฐานะการเงิน ธปท.' ล่าสุด ขาดทุนสะสม 1 ล้านล้านบาท (1,069,366,246,596 บาท)


· อ้างอิงจากประชาไท

- คาดการณ์เศรษฐกิจภาคการลงทุนดีขึ้น หลังยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง

อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะคาดการณ์เศรษฐกิจภาคการลงทุนดีขึ้น เบื้องต้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเม็ดเงิน 81,000 ล้านบาทปลายปีมีประสิทธิภาพดีขึ้นหลังยกเลิกยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยจากความตึงเครียดทางการเมืองคลี่คลายลงและการชุมนุมทางการเมืองอย่างสงบไม่ใช่เหตุฉุกเฉินร้ายแรง


บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com