• สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคเช้า) ประจำวันที่ 31 มีนาคม 2563

    31 มีนาคม 2563 | Economic News


· สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา

- จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกล่าสุดอยู่ที่ 784,440 ราย

- จำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกล่าสุดอยู่ที่ 37,781 ราย

- จำนวนประเทศติดเชื้อทั่วโลกล่าสุดอยู่ที่ 200 ประเทศ และติดเชื้อบนเรือสำราญ 2 ลำ ได้แก่ Diamond Princess และล่าสุด Holland America’s MS Zaandam

- จำนวนผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯอยู่ลำดับที่ 1 ของโลก ล่าสุดมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 19,999 ราย รวมอยู่ที่ 163,490 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 565 ราย สู่ระดับ 3,148 ราย

- จำนวนผู้ติดเชื้อในอิตาลีเพิ่มขึ้นแตะระดับ 101,739 ราย (+4,050) ขณะที่ผู้เสียชีวิตรวมแล้วทั้งสิ้น 11,591 ราย (+812)

- จำนวนผู้ติดเชื้อในไทยล่าสุดเพิ่มอีก 136 ราย รวมผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 1,524 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 2 ราย รวมสะสม 9 ราย



- คองเกรสเริ่มมองแผนต่อไปสำหรับ COVID-19

เป็นเวลาผ่านมา 3 วันแล้ว นับตั้งแต่ที่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวงเงิน 2 ล้านล้านเหรียญได้รับการลงนามมีผลบังคับใช้ ล่าสุดทางสภาคองเกรสเริ่มมีการเจรจากันเกี่ยวกับการดำเนินการในขั้นตอนถัดไป ท่ามกลางตัวเลขผู้เสียชีวิตในสหรัฐฯที่พุ่งสูงกว่า 3,000 ราย

บรรดาสมาชิกเดโมแครตที่ครองเสียงข้างมากในสภาล่างกำลังหารือเกี่ยวกับนโยบายกระตุ้นรายรับของผู้มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง ซึ่งมักจะเป็นกลุ่มที่โดนบริษัทปลดออกจากตำแหน่งรวมกันนับหลายล้านคน รวมถึงเจรจาเกี่ยวกับนโยบายลดค่ารักษาพยาบาลที่สูงเกินไป


- มีสมาชิกสภาคองเกรสสหรัฐฯอย่างน้อย 6 รายประกาศว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนา ขณะที่อีก 30 รายอยู่ระหว่างกักตัว และหวยังว่าการกักตัวจะช่วยจำกัดการระบาดของไวรัสได้


- นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวว่า ประชาชนอเมริกากว่า 1 ล้านคนอยู่ระหว่างการตรวจหาเชื้อไวรัส ดังนั้น ประชาชนทุกคนควรปฏิบัติตามมาตรการ Social Distancing ในการเว้นระยะทางสังคมตลอดเดือนเม.ย.นี้ เพื่อลดการระบาดของไวรัสโคโรนา

นอกจากนี้ นายทรัมป์ ยังมองว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากไวรัสโครนามีแนวโน้มที่จะพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ มีโอกาสจะเริ่มลดลงหลังวันที่ 1 มิ.ย. เป็นต้นไป


- ทรัมป์เผย แผนชะลอการระบาดของไวรัสอาจรัดกุมยิ่งขึ้น

นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระบุว่าเขาอาจพิจารณาเพิ่มความรัดกุมของแผนชะลอการระบาดของไวรัส หลังยอดผู้เสียชีวิตจากไวรัสในสหรัฐฯสูงกว่า 2,000 ราย


- ทรัมป์เลื่อนแผนเปิดเศรษฐกิจกลางเดือน เม.ย.

นายทรัมป์ประกาศขยายมาตรการควบคุมให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้านออกไปจนถึงสิ้นเดือน เม.ย. พร้อมประกาศเลื่อนแผนเปิดเศรษฐกิจในช่วงกลางเดือน เม.ย. หลังได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดอย่างหนัก พร้อมคำเตือนว่าชาวอเมริกันมากกว่า 100,000 รายอาจเสียชีวิต หากประกาศเปิดเศรษฐกิจเร็วเกินไป

ทั้งนี้ รายละเอียดของแผนขยายระยะเวลาจะได้รับการเปิดเผยภายในวันอังคารนี้ ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯเพิ่มสูงกว่า 141,000 ราย มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก ขณะที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 2,460 ราย


- ธนาคารโลกหรือ World Bank เรียกร้องให้ G20 หามาตรการยับยั้งผลกระทบจากมาตรการคุมเข้มด้านการส่งออกต่อกลุ่มเครื่องมือแพทย์, อาหาร หรือสินค้าอุปโภคที่สำคัญเพื่อให้ทั่วโลกสามารถต่อสู้กับผลร้ายจากไวรัสโคโรนา

World Bank เผยคาดการณ์ที่ว่า เศรษฐกิจโลกจะยิ่งถลำเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างหนัก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากอุปสรรคของห่วงโซ่อุปทานและการค้า โดยเฉพาะกลุ่มประเทศยากจนที่ดูจะเสี่ยงต่อการรับอุปกรณ์ทางการแพทย์และสินค้าจำเป็นอื่นๆอย่างจำกัด ดังนั้น กลุ่มประเทศ G20 ควรมีการประกาศลดภาษีนำเข้าสินค้าหมวดสำคัญๆที่จำเป็นในเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นกาปรับลดภาษีหรืองดเว้นภาษีส่งออกชั่วคราวในกลุ่มอาหารและสินค้าพื้นฐานในชีวิตประจำวันด้วย


- องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า การระบาดของไวรัสโคโรนาจะกระทบต่อความมั่นคงทางด้านอาหาร รวมทั้งภาคแรงงาน และห่วงโซ่อุปทาน โดยในช่วงเดือนเม.ย. - พ.ค. นี้มีโอกาสที่จะประสบปัญหา Food Crisis


- ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของอังกฤษร่วงลงในช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือนมี.ค.นี้ ท่ามกลางวิกฤตไวรัสโคโรนา ซึ่งเป็นการสำรวจก่อนที่ภาครัฐจะทำการ Shutdown กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อชะลอการระบาดของไวรัส

ความเชื่อมั่นจาก Lloyds Banks เผยว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะเผชิญวิกฤตทางการเงินในรอบ 11 ปี อันจะเห็นได้จากผลกระทบที่เริ่มตั้งแต่ 9 มี.ค. ที่ภาคบริษัทได้รับผลกระทบ -3%


- รัสเซียเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ประกาศ Lockdown หลังยอดติดเชื้อพุ่งสูงต่อเนื่อง


· สมาชิกเฟดส่งสัญญาณขยายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟดสาขาแอตแลนต้า เผย เฟดจะจับตาผลกระทบของการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นวงเงินกว่า 2 ล้านล้านเหรียญ ที่มีผลบังคับใช้เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ส่วนหนึ่งที่มองว่านโยบายดังกล่าวอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของเศรษฐกิจ โดยหากเป็นเช่นนั้นจริง เฟดจะพิจารณาขยายนโยบายทางการเงินเพื่อเข้ามาสนับสนุนอีกแรง


· ค่าเงินดอลลาร์ปรับแข็งค่าขึ้นหลังจากที่อ่อนตัวลงในสัปดาห์ที่แล้ว ท่ามกลางกลุ่มนักลงทุนที่ยังคงจับตาความยืดเยื้อแความไม่แน่นอนจากการ Lockdown ของรัฐบาลต่างๆ ท่ามกลางการประกาศใช้มาตรการทางการเงินต่างๆเพื่อรับมือและต่อสู้กับวิกฤตในเวลานี้ โดยเงินหยวนอ่อนค่าลงหลังจากที่ธนาคารกลางจีน (PBoC) ตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ย RRR ลง 0.2% จาก 2.4% สู่ระดับ 2.2% พร้อมอัดฉีดเม็ดเงินสู่ตลาด Interbank ในช่วงเช้า

ขณะที่ธนาคารกลางสิงคโปร์เองก็ประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเมื่อวานนี้เช่นกัน

ดัชนีดอลลาร์ปรับแข็งค่าขึ้น 0.8% ที่ 99.09 จุด ขณะที่เงินหยวนอ่อนค่า 0.4% แตะ 7.1132 หยวน/ดอลลาร์ ด้านยูโรอ่อนค่าลง 0.9% ที่ 1.1037 ดอลลาร์/ยูโร และเงินปอนด์อ่อนค่า 0.9% ที่ระดับ 1.2366 ดอลลาร์/ปอนด์ สำหรับเงินเยนแข็งค่าขึ้น 0.1% บริเวณ 107.88 เยน/ดอลลาร์

ในส่วนของกลุ่มนักวิเคราะห์ ระบุว่า กลุ่มนักลงทุนมีการปรับสมดุลพอร์ตการลงทุนของตนเองในช่วงสิ้นเดือน พร้อมๆกับความกังวลเรื่องไวรัสโคโรนาที่กลายมาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่หนุนทองคำ


· ราคาน้ำมันดิบปิดอ่อนตัวลงวานนี้ โดย WTI ปิดร่วงลงต่ำกว่า 20 เหรียญ/บาร์เรล ทางด้าน Brent ปรับลงทำต่ำสุดในรอบ 18 ปี จากความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโคโรนาทั่วโลกที่ส่งผลให้การ Shutdown อาจขยายเวลาออกไปจนถึงเดือนหน้า และอุปสงค์พลังงานมีแนวโน้มหดตัวลง

น้ำมันดิบ Brent ปิด -2.19 เหรียญ หรือ -8.78% ที่ระดับ 22.74 เหรียญ/บาร์เรล โดยระหว่างวันทำต่ำสุดที่ 22.58 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งเป็นต่ำสุดตั้งแต่พ.ย. ปี 2002

น้ำมันดิบ WTI ปิด -1.41 เหรียญ หรือ -6.5% ที่ 20.10 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ช่วงต้นตลาดทำ Low หลุด 20 เหรียญ มาที่ 19.92 เหรียญ/บาร์เรล

ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI ในเขตมิดแลนด์ และเท็กซัส ร่วงลงต่ำกว่า 10 เหรียญ/บาร์เรล มาแถว 9.5 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งถือเป็นระดับต่ำที่สุดตั้งแต่ช่วงปลายปี 1998 จากความกังวลเรื่องอุปสงค์น้ำมัน

 
บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com