• สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคเช้า) ประจำวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563

    21 กุมภาพันธ์ 2563 | Economic News


· สถานการณ์ไวรัสโคโรนา


- Market Watch ระบุถึงจำนวนยอดผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น 75,748 ราย และมีผู้เสียชีวิต 2,129 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นผู้เสียชีวิตในจีน ขณะที่การแพร่ระบาดเกิดขึ้นใน 26 ประเทศ และมีผู้เสียชีวิตนอกประเทศจีนจำนวน 7 ราย โดย 2 รายล่าสุดพบการเสียชีวิตจากไวรัสดังกล่าวในอิหร่าน

ขณะที่เช้านี้ พบว่ามียอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก 115 รายในมณฑลหูเป่ย ส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิตรวมล่าสุดอยู่ที่ 2,233 ราย

- นางคริสติน จอร์เจียวา ผู้อำนวยการ IMF เผยจะมีการปรับทบทวนคาดการณ์ตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจจีนและประเทศอื่นๆทั่วโลก โดยมองว่าเศรษฐกิจจีนมีแนวโมจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสและเข้ากระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ยังคาดว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้อยู่ โดยมองว่าปีนี้จะโตได้ 3.3% เมื่อเทียบกับปี 2019 ที่ขยายตัวได้ที่ 2.9% ขณะที่ปี 2021 คาดจะเติบโตได้ที่ 3.4% และ IMF เองก็หวังใจว่าผลกระทบดังกล่าวจะเป็นลักษณะ V Shape Curve โดยคาดจะมีการรปรับตัวลดลงในจีน ก่อนจะเห็นเศรษฐกิจรีบาวน์ขึ้นต่อเนื่องหลังจากที่สามารถควบคุมการระบาดได้ แต่ภาพการขยายตัวก็อาจเป็น U Curve ได้ หากว่าผลกระทบจากไวรัสโคโรนายังคงอยู่ในระยะเวลาที่ยาวนาน

- สมาคมการขนส่งทางอากาศนานาชาติ เผยว่า สถานการณ์ของการเดินทางด้วยสายการบินต่างๆมีแนวโน้มที่จะเห็นอุปสงค์การบินลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2009 อันได้รับผลกระทบโดยองค์รวมจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ที่ทำให้เกิดความกังวลและทำให้เราเห็นภาคบริการในจีนลดลงอย่างน่าใจหาย ทำให้สายการบินในจีนคาดจะมีมูลค่าความเสียหาย 1.28 หมื่นล้านเหรียญ ขณะที่ในภูมิภาคเอเชียน่าจะได้รับผลกระทบมูลค่ากว่า 2.9 หมื่นล้านเหรียญ พร้อมกันนี้ยังคาดว่าอุปสงค์การบินทั่วโลกจะเติบโตได้ที่ 4.1% ในปีนี้ โดยหดตัวลง 0.6% จากคาดการณ์ในครั้งก่อน

- S&P Global Ratings เผยรายงานว่า ธนาคารจีนต่างๆอาจเผชิญกับการเพิ่มขึ้นของระดับหนี้เสียเท่าตัวจากกรอบ 6.5-7.5% เป้น 10.5-11.5% อันเป็นผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในเวลานี้ ท่ามกลางความพยายามอย่างหนักของรัฐบาลจีนที่พยายามจะเข้าควบคุมการแพร่ระบาดในเวลานี้ ที่กำลังสร้างแรงกดดันให้แก่บริษัทในกลุ่มการเงิน รวมไปถึงผู้บริโภคด้วย และคาดจะส่งผลเสียต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจจีนในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ก่อนจะฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาสที่ 3

- องค์การอนามัยโลกหรือ WHO กล่าวเมื่อวานนี้ว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนานั้นยังไม่ถือว่าแพร่ไปทั่วโลก แต่ก็กล่าวย้ำว่าไวรัสดังกล่าวอาจแพร่กระจายไปทั่วโลกได้ ขณะที่หลายๆกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆค่อนข้างอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับจีน ดังนั้น จึงต้องเฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิด

- CEO จาก Export Now กล่าวว่า กิจกรรมภาคธุรกิจในจีนอาจตึงตัวท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา แต่กลุ่มนักลงทุนก็อาจเริ่มต้นวางแผนที่จะดำเนินการต่อไป เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจจีนยังคงเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และกลุ่มผู้บริโภคก็ยังคงต้องการการบริโภค แต่คาดว่าตลาดจีนในช่วง 6 เดือนจะยังคงดำเนินไปเช่นเดิมแม้ว่าจะเผชิญกับสถานการณ์ที่เลวร้ายในเวลานี้ก็ตาม

- อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำสิงคโปร์ มองว่า เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบเชิงลบจากวิกฤตไวรัส แต่ภาพรวมจีดีพีจีนก็มีแนวโน้มจะขยายตัวได้ดีในปีนี้ หลังจากที่ขยายตัวได้ 6.1% ในปี 2019 และถึงแม้บริษัทต่างๆจะไม่ชอบเผชิญกับความผันผวน แต่ทุกคนก็ยังมองว่าจีนคือความแข็งแกร่งและจะสามารถฟื้นตัวได้ดีในระยะยาว

- รัฐบาลสหรัฐฯ คาดหวังว่า จีนจะรักษาคำมั่นสัญญาในการเข้าซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯเพิ่มภายใต้ข้อตกลงการค้าเฟสแรกที่ทั้งสองประเทศลงนามร่วมกันไปเมื่อเดือนม.ค. แม้ว่าจะเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา และเชื่อมั่นว่าผลกระทบจากไวรัสโคโรนาต่อเศรษฐกิจจีนจะเกิดในช่วงสั้นๆสำหรับไตรมาสแรก และหลังจากนั้นจะรีบาวน์กลับขึ้นมาได้

- ค่าเงินเยนอ่อนค่ามากสุดรอบ 10 เดือนเมื่อเทียบดอลลาร์ โดยยืนเหนือ 112 เยน/ดอลลาร์ได้ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับข่าวการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาที่พบในประเทศญี่ปุ่น โดยค่าเงินเยนปิดปรับขึ้น 0.71% ไปทำอ่อนค่ามากที่สุดนับตั้งแต่เม.ย. ปีที่แล้วบริเวณ 112.14 เยน/ดอลลาร์ และถึงแม้เงินเยนจะเป็นสินทรัพย์ในกลุ่ม Safe-Haven แต่การแพร่ระบาดและความกังวลในประเทศก็ได้ส่งผลลบต่อค่าเงินเยน

- แม้รายงานจากจีนจะแสดงให้เห็นถึงภาวการณ์แพร่ระบาดในประเทศที่ชะลอตัวลง แต่บรรดานักวิทยาศาสตร์ กล่าวเตือนว่า ไวรัสดังกล่าวอาจส่งผลต่อการแพร่กระจายได้ง่ายยิ่งขึ้นหลังจากพบผู้โดยสารสูงอายุบนเรือสำราญเสียชีวิต 2 คน ตามมาด้วยผู้เสียชีวิตในโตเกียวล่าสุด พร้อมๆกับข่าวที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นอ่อนแอ ทำให้เกิดกระแสคาดการณ์เข้ามาถึงการที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอย

· ดัชนีดอลลาร์ปรับแข็งค่าขึ้น 0.18% ที่ 99.744 จุด โดยภาพรวมดัชนีดอลลาร์เคลื่อนไหวใกล้ระดับสำคัญทางจิตวิทยาบริเวณ 100 จุด ซึ่งเป็นระดับที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในรอบกว่า 3 ปี

นอกจากนี้ ดัชนีดอลลาร์ยังได้รับอานิสงส์จากการประกาศข้อมูลเศรษฐกิจที่สดใสของสหรัฐฯ แม้ว่าจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการจะปรับตัวขึ้นก็เป็นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ด้าน Philly Fed Manufacturing Index ออกมาดีขึ้นในรอบกว่า 3 ปี ในเดือนก.พ. และภาวะคลายความตึงเครียดของสงครามการค้าสหรัฐฯและจีน

ข้อมูลเศรษฐกิจที่ไม่มีสัญญาณการอ่อนตัวใดๆ ในเวลานี้ ส่งผลให้นายริชาร์ด แคลริด้า รองประธานเฟดเชื่อมั่นต่อแนวโมการเติบโต และคาดว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาจะส่งผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

· ข้อมูลเงินเฟ้อญี่ปุ่นออกมาชะลอตัวลงในเดือนม.ค. จึงมีแนวโน้มจะส่งผลให้บีโอเจจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นภายใต้แรงกดดันดังกล่าว เนื่องจากองค์รวมของเศรษฐกิจมีความเปราะบาง อันเนื่องจากการขยายตัวและดัชนีราคาที่อ่อนแอ

อยางไรก็ดี นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการบีโอเจ กล่าวถึงการจะตัดสินใจเพิ่มมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติมหากว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนานั้นเป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของญี่ปุ่น และถือว่าไวรัสดังกล่าเวป็นความไม่แน่นอนครั้งใหญ่มากที่สุดสำหรับเศรษฐกิจ

· ราคาน้ำมันดิบปิดปรับขึ้นหลังรัฐบาลสหรัฐฯเผยข้อมูลสต็อกน้ำมันดิบออกมาน้อยลงกว่าที่คาดอย่างมาก แต่ภาพรวมตลาดก็ยังคงขึ้นได้อย่างจำกัดเนื่องจากยังมีความกังวลเรื่องไวรัสโคโรนา หลังพบผู้เสียชีวิตรายแรกเกิดขึ้นในเกาหลีใต้

น้ำมันดิบ Brent ปิดปรับขึ้น 49 เซนต์ หรือ +0.9% ที่ 53.78 เหรียญ/บาร์เรล ด้าน WTI ปิดปรับขึ้น 95 เซนต์ หรือ +0.7% ที่ระดับ 54.44 เหรียญ/บาร์เรล


บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com