• สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคเช้า) ประจำวันที่ 23 มกราคม 2563

    23 มกราคม 2563 | Economic News


· รายงานล่าสุดพบผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาเพิ่มขึ้นเป็น 17 ราย และมีรายงานยืนยันผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นกว่า 540 ราย จึงยิ่งสร้างความกังวลถึงการแพร่ระบาดของเชื้อที่อาจมีสาเหตุมาจากการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายจากศูนย์กลาตลาดในเมืองอูฮั่น และทำให้ล่าสุดมีการพบผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ

ทั้งนี้ เคยเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดของโรคซาร์ในช่วงปี 2002-2003 ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 800 ราย ทำให้รัฐบาลจีนจึงต้องมีการอัพเดตความคืบหน้าในความพยายามทั้งหมดที่มีเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะ Panic ของประชาชนนับล้านคนที่จะเดินทางในช่วงเทศกาลตรุษจีน

ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐในเมืองอูฮั่นประกาศระงับการขนส่งทั้งหมดจากเมืองดังกล่าว ประกอบไปด้วย รถเมล์ รถไฟ เครื่องบิน และเรือข้ามฟาก เพื่อควบคุมพื้นที่การระบาดของไวรัส ขณะที่ประชาชนจะไม่สามารถออกนอกเมืองได้ เว้นแต่ว่าจะมีเหตุด่วนหรือกรณีพิเศษ



· ความกังวลเกี่ยวกับไวรัสสายพันธ์ใหม่ของจีนดังกล่าว ดูจะเข้ากระทบกับตลาดค่าเงิน โดยเฉพาะการกดดันให้เงินหยวนอ่อนค่า ในช่วง 24 – 48 ชั่วโมง ขณะที่ค่าเงินเยนถูกเข้าซื้อในฐานะ Safe-Haven และปรับแข็งค่ามาที่ 109.8 เยน/ดอลลาร์ ก่อนจะทรงตัวที่ 110.01 เยน/ดอลลาร์

ด้านค่าเงินหยวนอ่อนค่าไปแตะ 6.902 – 6.9036 หยวน/ดอลลาร์ จากระดับ 6.86 หยวน/ดอลลาร์ในช่วงต้นสัปดาห์ ขณะที่การยืนยันการพบผู้ติดเชื้อกว่า 400 ราย นอจากจีนก็ยังได้รับรายงานการยืนยันเพิ่มจากประเทศไทย, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น และไต้หวันอีกด้วย

นักวิเคราะห์จาก Nomura ระบุว่า นอกจากหยวนจะอ่อนค่าแล้ว ค่าเงินวอนของเกาหลีและสิงคโปร์ดอลลาร์ก็เผชิญแรงเทขายเข้ามา สัมพันธ์กับทิศทางของค่าเงินหยวน และข่าวไวรัสดังกล่าวก็มีแนวโน้มจะส่งผลต่อค่าเงินของประเทศในแถบเอเชียที่เหลือให้ได้รับผลกระทบรวมถึงค่าเงินบาทของไทยด้วย

· ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงตอบรับกับข่าวไวรัสโคโรนาที่กำลังแพร่ระบาดในเวลานี้จะส่งผลกระทบเพิ่มขึ้นต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีน ที่กำลังชะลอตัวอยู่จากปัญหา Trade War ระหว่างสหรัฐฯและจีน โดยเงินหยวนเมื่อวานนี้อ่อนค่าต่อประมาณ 0.55% จากวันอังคาร ซึ่งถือเป็นระดับการอ่อนค่าลงมากที่สุดในรอบเกือบ 5 เดือน และทรงตัวอยู่ที่บริเวณ 6.9063 หยวน/ดอลลาร์ ทางด้านออสเตรเลียดอลลาร์อ่อนค่าลงแตะ 0.6827 หยวน/ดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นระดับอ่อนค่ามากที่สุดตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธ.ค. ในส่วนของดัชนีดอลลาร์ทรงตัวบริเวณ 97.527 จุด หลังจากที่ช่วงต้นตลาดแข็งค่าไปทำสูงสุดเหนือ 97.65 จุด

· ผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์จากรอยเตอร์ส ชี้ว่า ข้อตกลงเฟสแรกของสหรัฐฯและจีนนั้นไม่มีแนวโน้มจะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจสหรัฐฯได้เท่าที่ควร เพียงแต่จะช่วยลดความเสี่ยงขาลง หรือดีที่สุดก็แค่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเดินหน้าได้ในระดับปานกลาง ซึ่งผลสำรวจของรอยเตอร์สในช่วงระหว่าง 16 – 22 ม.ค. สอดคล้องกับมุมมองของไอเอ็มเอฟที่มีการปรับลดการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกครั้ง รวมทั้งสัญญาณที่ไอเอ็มเอฟประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯอาจไม่ได้ขยายตัวดีเท่าควร

ขณะที่ความชัดเจนที่เกิดขึ้นดูจะส่งผลให้มีกระแสว่าเฟดจะยังเดินหน้าคงระดับดอกเบี้ยในปีนี้ และหากจะดำเนินการในโอกาสต่อไปน่าจะเลือกแนวทางการปรับลดดอกเบี้ยมากกว่าจะเลือกปรับขึ้นดอกเบี้ย

· เมื่อวานนี้ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานานธิบดีสหรัฐฯ เผยถึงการจะเพิ่มการแบนประเทศในรายการห้ามเดินทางท่องเดียวมากขึ้น (Travel Ban) ซึ่งเป็นการประกาศโดยปราศจากการให้รายละเอียดใดๆ เพียงแต่ระบุถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะมีการประกาศในเร็วๆนี้

แหล่งข่าววงใน เปิดเผยว่า ร่างข้อเสนอดังกล่าว จะมีรายชื่อประเทศใน Travel Ban เพิ่มขึ้น คือประเทศเบลารุส, เอริเทรีย, คากีซสถาน, พม่า, ไนจีเรีย, ซูดาน และทนซาเนีย จึงอาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและประเทศดังกล่าวเหล่านั้นย่ำแย่ลงภายใต้การขยายขอบเขตการแบนที่เกิดขึ้น

· ตัวแทนพรรคเดโมแครตแห่งสหรัฐฯ กล่าวตำหนินายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากกรณีต้องสงสัยว่าพยายามขอความช่วยเหลือจากผู้นำยูเครนเพื่อกดดันคู่แข่งในการเลือกตั้งของเขา ว่านายทรัมป์จะกลายเป็นภัยต่อความมั่นคงของโลก หากวุฒิสภาตัดสินใจไม่เอาผิดเขา

ทางด้านนายทรัมป์กล่าวว่า พรรคเดโมแครตไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสามารถเอาผิดหรือปลดให้เขาออกจากตำแหน่งได้

· โพลสำรวจล่าสุดของ Reuters/Ipsos ที่จัดทำเมื่อวันที่ 17 – 22 ม.ค. ที่ผ่านมา พบว่า ชาวอเมริกันส่วนใหญ่อยากให้กระบวนการไต่สวนนายทรัมป์ มีการเรียกพยานคนใหม่เข้าให้ปากคำ

ขณะที่ชาวอเมริกัน 44% ต้องการให้นายทรัมป์ลงจากตำแหน่ง 31% ต้องการให้ข้อกล่าวหาถูกโหวตตกไป และอีก 15% ต้องการให้นายทรัมป์ถูกตำหนิอย่างเป็นทางการจากสภาคองเกรส ซึ่งความคิดเห็นของชาวอเมริกันไม่ค่อยมีความเปลี่ยนแปลงมากนักจากผลสำรวจเดิม

· การประชุมอีซีบีในคืนนี้ถูกคาดว่าจะยังคงนโยบายการเงินต่อไปด้วยท่าทีที่อาจยังจำเป็นต้องใช้นโยบาย QE หากจำเป็น รวมทั้งการปรับลดดอกเบี้ยตามมาจนกว่าเงินเฟ้อจะขยายตัวสู่ระดับเป้าหมายของอีซีบีได้

· รัฐสภาอังกฤษมีมติผ่านร่างนโยบายสำคัญที่จะมาปกป้องสิทธิของผู้อพยพวัยเยาว์ ก่อนที่อังกฤษจะเข้าสู่สถานะถอนตัวออกจากอียูในวันที่ 31 ม.ค.

ร่างนโยบายดังกล่าวจะกลายเป็นกฏหมายอย่างเป็นทางการ เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้อย่างเร็วที่สุดภายในวันพฤหัสบดีนี้

ด้านนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้กล่าวว่า ก่อนหน้านี้แทบไม่เคยคิดเลยว่าอังกฤษจะสามารถก้าวข้ามเส้นชัยของ Brexit ไปได้ แต่เราก็ทำได้ในท้ายที่สุด และจากนี้ก็จะเดินหน้าต่อไปอย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน

· รายงานจากรอยเตอร์ส ระบุว่า เหตุวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศเลบานอน ส่งผลให้ภาครัฐมีการประชุมฉุกเฉินในการหามาตรการเร่งระดมทุนเพื่อรักษาเม็ดเงินจากต่างประเทศ และอาจมีการขอความช่วยเหลือทางการเงินจากไอเอ็มเอฟ

ในขณะนี้รัฐบาลเลบานอนกำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ อีกทั้งยังมีงบประมาณขาดดุลต่อจีดีพีที่สูงที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก หรือคิดเป็น 150% ของจีดีพี จึงจำเป็นต้องแก้ปัญหาด้วยการขึ้นภาษีสินค้าหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือภาษีการสื่อสารผ่านระบบอินเทอร์เน็ตจาก Social Media แต่สุดท้ายกลับนำมาซึ่งการประท้วงอย่างรุนแรง

· รายงานจาก MOF เผยว่า ยอดส่งออกญี่ปุ่นปรับตัวลงไปกว่า 6.3% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายปี ท่ามกลางสัญญาณการอ่อนตัวของอุปสงค์ภายนอกประเทศที่ยังคงสร้างอุปสรรคต่อการส่งออก

· ราคาน้ำมันดิบปิดปรับตัวลดลงกว่า 2% ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ของ EIA ที่มองว่าจะมีน้ำมันเกินดุลเพิ่มขึ้นประมาณ 1 ล้านบาร์เรล/วันในช่วงครึ่งปีแรก ประกอบกับตลาดกังวลว่าอุปสงค์น้ำมันอาจถูกกดดันจากความกังวลต่อสถานการณ์การผลิตในลิเบีย

น้ำมันดิบ Brent ปิดลดลง 1.39 เหรียญ หรือ -2.2% ที่ระดับ 63.20 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ WTI ปิดลดลง 1.64 เหรียญ หรือ -2.8% ที่ระดับ 56.74 เหรียญ/บาร์เรล



บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com