• ในสงครามการค้า ทุกฝ่ายคือผู้แพ้ !?

    6 พฤศจิกายน 2562 | Economic News
 

สงครามการค้าในมุมมองของนักการเมืองจะต้องมีฝ่ายหนึ่งเป็นผู้แพ้และฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ชนะ แต่เมื่อหันมาพิจารณาจากข้อมูลในเชิงเศรษฐศาสตร์แล้ว กลับพบว่าทั้งสหรัฐฯและจีน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดต่างก็เป็นผู้แพ้ทั้งสิ้น นี่จึงอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เห็นข่าวการเจรจาการค้าที่คืบหน้าไปในทางบวกในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากข้อมูลได้แสดงให้เห็นว่าความเสียหายเป็นมูลค่ากว่าหลายพันล้านเหรียญกำลังเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ

แม้นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะอ้างเสมอว่าจีนเป็นฝ่ายที่ได้รับความเสียหายมากกว่าสหรัฐฯเมื่อคิดมูลค่าการค้าเป็นหน่วยเงินดอลลาร์ โดยข้อมูลการค้าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2018 แสดงให้เห็นว่า การนำเข้าสินค้าจีนสู่สหรัฐฯได้ลดลงไปเป็นมูลค่าถึง 5.3 หมื่นล้านเหรียญ ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าสหรัฐฯสู่จีนลดลงเพียง 1.45 หมื่นล้านเหรียญ




แต่เนื่องจากการส่งออกไปยังจีนของสหรัฐฯมีปริมาณที่น้อยกว่าการนำเข้า ดังนั้นแม้ปริมาณจะลดลงน้อยกว่า แต่เมื่อคิดเป็น % กลับพบว่าลดลงไปมากกว่าเสียอีก

โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2018 การส่งออกของสหรัฐฯสู่จีนลดลงไป 15.5% มากกว่าปริมาณการนำเข้าที่ลดลงไป 13.5%



ตัวเลขเฉลี่ยดังกล่าวเป็นปัจจัยที่บดบังผลกระทบที่แท้จริงที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมสหรัฐฯ โดยเมื่อเทียบช่วง 9 เดือนแรกของปี 2017 ก่อนที่สงครามการค้าจะเริ่มต้นขึ้น ปริมาณการส่งออกแร่เหล็กสู่จีนได้ลดลงไปถึง 65% ในปี 2019 ขณะที่ผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ลดลงไป 39% และสินค้าปศุสัตว์ลดลงไป 35%


ในขณะเดียวกัน การส่งออกสินค้าการเกษตรของสหรัฐฯลดลงไปเป็นมูลค่า 2 พันล้านเหรียญ ส่วนการส่งออกอุปกรณ์ด้านการคมนาคมลดลงไป 5.8 พันล้านเหรียญ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับกรณีเครื่องบินรุ่น 737 Max ของบริษัท Boeing โดยตัวเลขดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงผลกระทบในระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในกรณีที่ค่านิยมของการใช้เครื่องบินของชาวจีนเริ่มเปลี่ยนแปลงไป

ทั้งนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่สถานการณ์เหล่านี้จะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น หากทั้งสองประเทศยอมยกเลิกการขึ้นภาษีแต่ละฝ่าย และรักษาการเจรจาที่มั่นคงต่อไป ซึ่งอาจเปิดโอกาสให้อุตสาหกรรมของสหรัฐฯบางส่วนสามารถหาตลาดใหม่ๆได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อันตรายสำหรับตลาดสหรัฐฯ คือกรณีที่จีนสามารถหาซัพพลายเออร์รายใหม่ได้ ซึ่งจะทำให้ความเสียที่เกิดกับผู้ส่งออกของสหรัฐฯคงอยู่ในระยะยาว


ที่มา: CNBC

บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com