• สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคค่ำ) ประจำวันที่ 21 ตุลาคม 2562

    21 ตุลาคม 2562 | Economic News


· ค่าเงินปอนด์อ่อนค่า 0.61% บริเวณ 1.2910 ปอนด์/ดอลลาร์ ในช่วงตลาดเอเชียวันนี้ โดยอ่อนค่าลงมาจากระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือนที่ 1.2990 ปอนด์/ดอลลาร์ หลังรัฐสภาอังกฤษเลื่อนการลงมติข้อตกลง Brexit เมื่อวันเสาร์

ด้านค่าเงินยูโรอ่อนค่า 0.13% บริเวณ 1.1159 ดอลลาร์/ยูโร ลดลงจากระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือนที่ 1.1172 ดอลลาร์/ยูโร

ค่าเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับเงินเยนทรงตัวแถว 108.48 เยน/ดอลลาร์ ใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือนครึ่งที่ 108.94 เยน/ดอลลาร์

นักวิเคราะห์จาก Barclays ระบุว่า ตลาดกำลังจับตาความคืบหน้าของกรณี Brexit ในขณะที่ความเสี่ยงที่จะเกิดกรณี No-deal Brexit ได้ลดลงไปบ้าง หลังจากการเคลื่อนไหวเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา

และอีกประเด็นที่ตลาดจะให้ความสนใจช่วงสัปดาห์นี้ คือการประชุมบรรดาธนาคารกลาง โดยเฉพาะการประชุมอีซีบีวันพฤหัสบดีนี้ ที่จะเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายในฐานะประธานอีซีบีของนายมาริโอ ดรากี้ รวมถึงการประชุมเฟดสัปดาห์หน้าระหว่างวันที่ 29 – 30 ต.ค.
· การส่งออกของประเทศญี่ปุ่นหดตัวลงในเดือน ก.ย. ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 กระแสคาดการณ์ว่าบีโอเจจะประกาศผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมภายในการประชุมสัปดาห์หน้า เพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจที่ชะลอตัว จึงยิ่งมีหนาแน่นขึ้น

การส่งออกในเดือน ก.ย. หดตัว 5.2% มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 4.0% โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มชิ้นส่วนรถยนต์และอากาศยานไปยังสหรัฐฯ และกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ไปยังเกาหลีใต้ และการหดตัวติดต่อกันของยอดส่งออก นับว่าการหดตัวที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ช่วงเดือน ต.ค. ปี 2015 ถึง พ.ย. ปี 2016 ที่การส่งออกหดตัวติดต่อกันถึง 14 เดือน

· รองประธานฝ่ายบริหารประจำองค์กร IMF ระบุว่า เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงมากกว่าเดิมในปี 2020 แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกถูกคาดการณ์ว่าจะขยายตัวขึ้นได้เล็กน้อยก็ตาม

โดยเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ 5.8% ในปี 2020 ชะลอตัวลงจากคาดการณ์ของปี 2019 ที่ 6.1% เทียบกับของปี 2018 ที่เศรษฐกิจจีนขยายตัวได้ 6.6%

อย่างไรก็ตาม รองประธานได้ระบุว่า อัตราการเติบโตที่คาดการณ์ไว้ ถือว่า “เหมาะสม” เมื่อพิจารณาจากการที่จีนกำลังพยายามปฏิรูประบบเศรษฐกิจในประเทศเพื่อให้สามารถคงการขยายตัวได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการที่จีนพยายามลดการกู้ยืมและหันไปกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคการบริโภค นั่นหมายความว่า เศรษฐกิจจะเติบโตได้ด้วยอัตราที่ช้าลง แต่เป็นการเติบโตที่มีคุณภาพมากกว่า

· ผู้ว่าธนาคารกลางจีน ระบุว่า ความตึงเครียดในสงครามการค้าและความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบาย ถือปัจจัยเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ค่าเงินหยวนในปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับเหมาะสม ซึ่งก็เป็นผลจากกลไกของตลาด

นอกจากนี้ ผู้ว่าธนาคารกลางจีนยังได้กล่าวตอบโต้รายงานของ IMF โดยระบุว่า รู้สึกผิดหวังอย่างมากที่ทาง IMF ไม่ได้ประเมินมูลค่าในการถือหุ้นของจีน รวมถึงอิทธิพลที่จีนมีต่อบรรดาประเทศที่กำลังเติบโต

· รัฐมนตรีชั้นผู้น้อยในกระทรวงเศรษฐกิจของฝรั่งเศส ระบุว่า ยังมีความเป็นไปได้ที่อังกฤษจะถอนตัวออกจากอียู ภายในระยะเวลาที่เหลือไม่ถึง 10 วัน เนื่องจากแต่ละฝ่ายมีการวางรากฐานสำหรับการถอนตัวไว้มากพอแล้ว แม้ภาคเอกชนอาจจำเป็นต้องมีความพร้อมที่มากกว่านี้ สำหรับกรณีเกิด No-deal Brexit

· นักวิเคราะห์จากสถาบัน Pictet Wealth Management มีมุมมองว่า ตลาดไม่ได้คาดหวังว่าจะมีการประกาศสำคัญอะไรจากการประชุมอีซีบีวันพฤหัสบดีนี้ เนื่องจากการประชุมครั้งที่จะถึงนี้ ถือการประชุมครั้งสุดท้ายของนายมาริโอ ดรากี ประธานอีซีบีคนปัจจุบันที่กำลังจะหมดวาระ และทางอีซีบีก็น่าจะใช้เวลาส่วนใหญ่ล่ำลานายดรากี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากอีซีบีได้ประกาศผ่อนคลายนโยบายและลดดอกเบี้ยเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ทางอีซีบีน่าจะยังอยู่ในช่วงประเมินผลกระทบของนโยบายที่มีต่อเศรษฐกิจ

· นายไมเคิล โกฟ รัฐมนตรีผู้ดูแลการเตรียมพร้อมสำหรับกรณี No-deal Brexit ยืนยันว่า อังกฤษจะถอนตัวออกจากอียูตามกำหนดการเดิมในวันที่ 31 ต.ค. แม้ว่าทางรัฐสภาจะมีการส่งจดหมายขอขยายเวลาให้ทางอียูแล้วก็ตาม แต่จดหมายดังกล่าวไม่ได้รับการลงนามโดยนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และรัฐสภาจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความตั้งใจหรือจุดมุ่งหมายของนายบอริสได้

· รายงานจาก Reuters ระบุว่า นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ จะพยายามผลักดันให้รัฐสภาทำการลงมติข้อตกลง Brexit ฉบับล่าสุด ภายในวันจันทร์นี้

· ราคาน้ำมันเริ่มทรงตัว หลังจากที่ปรับลดลงในช่วงตลาดก่อนหน้า แต่ตลาดยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดทางเศรษฐกิจที่อาจกดดันปริมาณอุปสงค์ในน้ำมันได้

โดยราคาสัญญาน้ำมันดิบ Brent ปรับลดลง 1 เซนต์ บริเวณ 59.41 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ราคาสัญญาน้ำมันดิบ WTI ปรับลดลง 2 เซนต์ บริเวณ 53.76 เหรียญ/บาร์เรล

นักวิเคราะห์จาก CMC Markets มีมุมมองว่า ความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะคงอยู่ต่อไปในระยะยาว ดังนั้นราคาน้ำมันก็มีแนวโน้มที่จะเคลื่อนไหวในทิศทางขาลงระยะยาวเช่นกัน


บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com