• สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคค่ำ) ประจำวันที่ 15 พฤษภาคม 2562

    15 พฤษภาคม 2562 | Economic News


· ค่าเงินดอลลาร์ค่อนข้างทรงตัว ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียเคลื่อนไหวใกล้ระดับอ่อนค่าที่สุดในรอบ 4 เดือน ขณะที่ตลาดกำลังรอการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของยูโรโซนและสหรัฐฯ ภายในช่วงเย็นจนถึงหัวค่ำวันนี้

ทั้งนี้ ตลาดค่าเงินมีการตอบรับการตัวเลขเศรษฐกิจจีนเกี่ยวกับผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและยอดค้าปลีกที่ออกมาอ่อนแอเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ด้านค่าเงินดอลลาร์ยังคงมีแรงหนุน หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวว่าการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ-จีนไม่ได้ประสบความล้มเหลว และจะมีการดำเนินการเจรจาต่อไป โดยดัชนีดอลลาร์ค่อนข้างทรงตัวแถว 97.514 จุด หลังจากปรับแข็งค่าขึ้นมาได้ 0.2% ในช่วงก่อนหน้า

· ตลาดจะจับตาการประกาศตัวเลข GDP ของยูโรโซนที่จะประกาศวันนี้เวลา 16.00 น. ตามเวลาประเทศไทย จากนั้นจะมีการประกาศยอดค้าปลีกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯเวลา 19.30 น. เพื่อหาสัญญาณว่าเศรษฐกิจโลกจะดำเนินไปในทิศทางใด

· นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการบีโอเจ ระบุว่า ยังไม่มีการตัดสินใจว่าจะใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมหรือไม่ แต่ภาพรวมนโยบายผ่อนคลายทางการเงินก็ยังจำเป็นที่จะหนุนให้ดัชนีราคาเคลื่อนไหวไปยังระดับเป้าหมาย แต่การจะใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมจะขึ้นอยู่กับการอ่อนตัวของดัชนีราคา ณ ขณะนั้นเป็นหลัก อันจะหมายรวมไปถึงการใช้ทางเลือกในการเข้าซื้อสินทรัพย์เพิ่มเติม


ตลาดกำลังส่งสัญญาณเตือนสหรัฐฯ-จีน: “พวกคุณกำลังย่างเท้าเข้าสู่สนามทุ่นระเบิด”


· ภัยคุกคามจากสงครามการค้าได้ขยายตัวกลายเป็นสิ่งที่ตลาดวิตกกังวลมากที่สุด และทั้งนักลงทุนและนักวิเคราะห์ในตลาดต่างไม่ยอมรับถึงข้อดีของนโยบายขึ้นภาษีสินค้านำเข้าตามที่รัฐบาลอ้าง อีกทั้งโอกาสที่สงครามการค้าจะกลายเป็นสิ่งอื่นที่เลวร้ายยิ่งกว่าก็ดูจะเข้าใกล้ความจริงมากขึ้นๆเรื่อยๆ

· ผู้ร่วมก่อตั้งสถาบัน DataTrek Research กล่าวว่า ไม่ใช่แค่ความเชื่อมั่นของตลาด แต่มาตรวัดอื่นๆก็บ่งชี้ถึงทิศทางของเศรษฐกิจที่กำลังก้าวเข้าสู่สนามทุ่นระเบิดที่พร้อมจะระเบิดได้ทุกเมื่อหากก้าวผิดแม้แต่นิดเดียว นั่นหมายถึง ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯจะเข้าสู่ภาวะชะลอตัวกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วและรุนแรง

ปัจจัยที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะชะลอตัว ไม่ใช่แค่มาตรวัดที่แสดงเป็นตัวเลขเท่านั้น แต่รวมไปถึงความกังวลต่างๆของตลาด ไม่ว่าจะมีต่อเรื่องของอัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย หรือความกังวลที่รัฐบาลจีนอาจตอบโต้สหรัฐฯด้วยการเทขายพันธบัตรสหรัฐฯที่พวกถือครองเป็นมูลค่ามหาศาล ตลอดจนความกังวลว่าการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในช่วงที่ผ่านมา เป็นการดำเนินนโยบายที่ผิดทางหรือไม่

ทั้งนี้ มาตรวัดทางเศรษฐกิจที่บ่งชี้ถึงสัญญาณชะลอตัว ได้แก่:

• มาตรวัดความเสี่ยงการชะลอตัวของเศรษฐกิจในระยะเวลา 12 เดือนโดยเฟดสาขานิวยอร์ก ได้ปรับสูงขึ้นไปถึงระดับ 27.5% ถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ช่วงเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจ

• Economic Surprise Index โดย Citi ที่วัดความต่างระหว่างข้อมูลเศรษฐกิจตามจริงกับการคาดการณ์ของตลาด เมื่อไม่นานมานี้ได้รีบาวน์ขึ้นจากระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี และล่าสุดกำลังเคลื่อนไหวอยู่ในแดนลบ

• กระแสคาดการณ์การขยายตัวของเงินเฟ้อก็เริ่มซาลงไปเช่นกัน โดยช่องว่างระหว่างมูลค่าพันธบัตรอายุ 5 ปี กับพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ (Treasury Inflation Protected Security) อายุ 5 ปี บ่งชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อมีโอกาสโตได้มากสุดที่ระดับ 1.75% ซึ่งยังต่ำกว่าระดับเป้าหมายของเฟดที่ 2%

• บรรดานักลงทุนยังคงมีการปรับคาดการณ์แนวโน้มดอกเบี้ยของเฟดอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลล่าสุดจาก CME บ่งชี้ว่า ตลาดมองโอกาส 50% ที่เฟดอาจปรับลดดอกเบี้ยในเดือน ก.ย. และอีก 29% ที่เฟดอาจปรับลดดอกเบี้ยลง 0.5% ก่อนสิ้นปี 2019 ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่ย่ำแย่ของตลาดที่มีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ จึงเริ่มคาดหวังให้ธนาคารเร่งปรับลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม นายนีล คาชคาริ ประธานเฟดสาขามินิแอโปลิส ระบุว่า ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนนโยบายการเงินแต่อย่างใด ซึ่งตลาดไม่เห็นด้วย

· จากกรณี Trade War ระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่ต่างฝ่ายต่างประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าระหว่างกันเมื่อไม่กี่วันมานี้ ทางที่ปรึกษารัฐบาลแคนาดาอาวุโส ผู้ที่เป็นตัวแทนเจรจาข้อตกลงทางการค้าระหว่างแคนาดากับอียู มีมุมมองว่า แนวโน้มการเพิ่มอัตราภาษีครั้งนี้จะส่งผลให้ผู้บริโภคสหรัฐฯได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น และ Trade War จะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทาน


ขณะที่ภาพรวมจีนยังถือเป็นคู่ค้าคนสำคัญของสหรัฐฯ ที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้น 7% ในปีที่แล้ว แต่เมื่อเกิดภาวะสงครามการค้าขึ้นก็ได้ส่งผลให้การทำการค้ามายังสหรัฐฯนั้นต้องปรับตัวลงไปถึง 9% ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ และนั่นสะท้อนว่า Trade War กำลังเริ่มาก่อผลกระทบ

· นาย เมเรดิธ ครอเลย์ ผู้เชี่ยชาญด้านการค้าประจำมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ บอกว่า แม้จะยังไม่มีหลักฐานพิสูจน์ในตอนนี้ว่าบริษัทในจีนมีการปรับลดค่าใช้จ่ายเพื่อให้บริษัทสหรัฐฯทำการซื้อสินค้าอยู่ แต่ผู้ส่งออกบางรายก็สะท้อนให้เห็นว่ายอดขายสินค้าในตลาดตกลงใจจากบริษัทสหรัฐฯที่เริ่มนำเข้าสินค้าจากที่อื่นแทน เนื่องจากมีค่ามาร์จิ้นเรียกเก็บที่น้อยกว่าอย่างมาก และนี่คือผลสะท้อนที่ชัดเจนของ Trade War ที่กำลังกระทบพวกเขา แต่สิ่งที่ทำให้ยอดขายยังอยู่ในระดับสูง น่าจะมีความเป็นไปได้จากการที่กลุ่มผู้นำเข้าสินค้าของทางสหรัฐฯนั้นยังคงมีความต้องการสินค้าจีนในระดับสูง



· บรรดานักเศรษฐศาสตร์จากเฟดสาขานิวยอร์ก, มหาวิทยาลัยพรินซ์ทัน และมหาวิทยาลัยโคลอมเบีย ประเมินว่า Trade War จะทำให้กรอบการนำเข้าสินค้ากว้างขึ้นตั้งแต่ เหล็กที่ถูกใช้ในกลุ่มเครื่องจักร, ค่าใช้จ่ายของบริษัทสหรัฐฯ และกลุ่มผู้บริโภคสหรัฐฯให้มีมูลค่าสูงขึ้นประมาณ 3 พันล้านเหรียญ และอาจกระทบต่ออุปสงค์ให้ลดลงไปมากถึง 1.4 พันล้านเหรียญ

· หลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตัดสินใจประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน ศึกต่อไปของเขาอาจเป็นการประกาศขึ้นภาษีรถยนต์นำเข้าจากยุโรปอีก 25% ตามที่เคยส่งสัญญาณไว้ ซึ่งอาจเป็นฉนวนก่อเกิดเป็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-ยุโรป

ทั้งนี้ นายทรัมป์จะมีถ้อยแถลงเกี่ยวกับการนำเข้ารถยนต์จากยุโรปในวันที่ 18 พ.ค. นี้

นักวิเคราะห์จาก Bank of America Merrill Lynch ประเมินว่า หากนายทรัมป์ตัดสินใจประกาศขึ้นภาษีรถยนต์ยุโรปจริง จุดมุ่งหมายสูงสุดของเขาไม่น่าจะอยู่สินค้ากลุ่มรถยนต์เท่านั้น แต่เขาอาจใช้นโยบายภาษีเป็นเหมือน “ม้าโทรจัน” แทรกตัวเข้าไปในระบบเศรษฐกิจยุโรป เพื่อผลักดันให้เกิดข้อตกลงการค้าที่ดียิ่งกว่า โดยเฉพาะในสินค้ากลุ่มการเกษตร เป็นต้น

· นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีกำหนดการจะกล่าวถ้อยแถลงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เพื่อเผยรายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับแผนปรับปรุงกฏหมายด้านการอพยพ

โดยก่อนหน้านี้ นายทรัมป์ได้ทำงานร่วมกับบรรดาที่ปรึกษา เพื่อวางร่างนโยบายสำหรับการเพิ่มจำนวนการออกวีซ่าให้กับแรงงานที่มีความสามารถสูง และลดการออกวีซ่าให้กับแรงงานประเภทอื่นๆที่เหลือ ซึ่งเป็นแผนที่น่าจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากสภาคองเกรส ก่อนหน้าการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2020

· จีนรายงานว่ายอดค้าปลีกและภาคอุตสาหกรรมเดือนเม. ย. ขยายตัวน้อยลงและเพิ่มแรงกดดันให้รัฐบาลจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเนื่องจากสงครามทางการค้ากับสหรัฐทวีความรุนแรงมากขึ้น

โดยยอดขายเสื้อผ้าลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2009 ซึ่งบ่งชี้ว่าผู้บริโภคชาวจีนเริ่มวิตกกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจมากขึ้นก่อนที่จะมีการปรับขึ้นอัตราภาษีของสหรัฐฯในวันศุกร์ที่ผ่านมา

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกเดือนเม.ย. ปรับตัวขึ้น 7.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี สู่ระดับกว่า 3 ล้านล้านหยวน (4.36 แสนล้านเหรียญ) ซึ่งลดลงจากเดือนมี.ค.ที่มีการขยายตัว 8.7%

ทั้งนี้ ข้อมูลชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มลดการใช้จ่ายในสินค้าประจำวัน เช่นการดูแลส่วนตัวและเครื่องสำอาง ขณะที่ยังคงหลบเลี่ยงรายการที่มีราคาแพง เช่น รถยนต์

· เศรษฐกิจเยอรมนีกลับมาขยายตัวได้เป็นครั้งแรกในไตรมาสที่ 1/2019 ท่ามกลางแรงหนุนจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้น โดยจีดีพีรายไตรมาสของเยอรมนีประกาศออกมาขยายตัวได้ 0.4% สอดคล้องกับคาดการณ์ของบรรดานักวิเคราะห์

· รายงานจาก CNBC ระบุว่า กลุ่มนักวิเคราะห์มีความคิดเห็นว่าหุ้นกลุ่มยานยนต์ของเยอรมนีอาจร่วงลงได้กว่า 12% ในช่วง 3 วันนี้ หากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีการตัดสินใจขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ยุโรป

โดยในวันศุกร์นี้หรือช่วงการเริ่มเข้าวันศุกร์เวลาเที่ยงคืน (ตามเวลาสหรัฐฯ) หรือประมาณ 11.00 น. ตามเวลาไทยในวันศุกร์ จะเป็นวันชี้ชะตาว่าทรัมป์จะตัดสินใจขึ้นภาษีสินค้านำเข้ารถยนต์หรือไม่ และหากขึ้นภาษีดังกล่าวกับทางยุโรปจริง นักวิเคราะห์บางส่วนก็มองว่าเยอรมนีจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบหนักสุด เพราะเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ที่สุดไปยังประเทศสหรัฐฯ

· นักวิเคราะห์บางส่วน เชื่อว่า การขึ้นภาษีดังกล่าว อาจนำพาให้หุ้นยุโรปร่วงไปกว่า 6% ขณะที่หุ้นกลุ่มยานยนต์ร่วงลงกว่า 12% ท่ามกลางดัชนี DAX ที่เป็นหุ้นหลักของเยอรมนีที่ตั้งแต่ต้นปีมานี้อยู่ในทิศทางเชิงบวกกว่า 14% ขณะที่ภาพรวมหุ้นยุโรปปรับขึ้นได้ประมาณ 11% ในปีนี้

อย่างไรก็ดี นายทรัมป์ เคยขู่จะขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ยุโรป 20% จากความไม่สมดุลทางการค้าระหว่างประเทศที่กำลังบั่นทอนความมั่นคงของสหรัฐฯ โดยเป็นรู้กันดีว่า ยุโรปนั้นเป็นผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในโลก และสหรัฐฯก็มีการนำเข้ารถยนต์จากยุโรปมากที่สุดเช่นกัน

ทั้งนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายก็ยังไม่ได้มีการกำหนดการเริ่มต้นเจรจาข้อตกลงทางการค้าระหว่างกัน ในขณะที่ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯและจีนยังคงดำเนินไป ก็ดูเหมือนยุโรปจะโดนหางเลขไปด้วย และทำให้บรรดานักวิเคราะห์คาดว่านายทรัมป์ก็จะสงวนท่าทีที่แข็งกร้าวต่อทางอียูด้วยเช่นกัน

และการเกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและอียูนั้นในช่วงที่สภาวะทางเศรษฐกิจของยุโรปอ่อนแอจากข้อมูลการผลิตและการขยายตัว ก็ดูเหมือนจะทำให้อีซีบียิ่งตัดลดคาดการณ์การขยายตัวในปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจอียูดูจะอ่อนไหวต่อภาวะตื่นตระหนกของปัจจัยภายนอก และการส่งออกภายในประเทศ

ขณะเดียวกันนักวิเคราะห์บางส่วนก็ยังเชื่อว่า นายทรัมป์อาจเลื่อนการตัดสินใจขึ้นภาษีนำเข้ายุโรปในสัปดาห์นี้ออกไปก่อน และให้ความสนใจไปยังการเจรจากับจีนมากกว่า

· นักวิเคราะห์บางคนก็มองว่า นายทรัมป์ดูจะมีใจไปกับประเด็นจีนมากกว่า และอาจจะเลื่อนการขยายเดดไลน์ไปในวันเสาร์ (ตามเวลายุโรป) ก่อนจะเห็นความขัดแย้งเรื่องการส่งออกของยุโรป-นำเข้ารถยุโรป และไม่กว่ากรณีใดๆ จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนเป็นหลัก และอาจทำให้เสียความเชื่อมั่นมากขึ้นอันเป็นผลกระทบจากการขึ้นภาษีนั่นเอง



· ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง หลังจากที่ข้อมูลแสดงให้เห็นว่าสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯเพิ่มขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ รวมทั้งข้อมูลภาคอุตสาหกรรมจีนประจำเดือนเม.ย.ที่เติบโตได้น้อยกว่าที่คาด อย่างไรก็ดี ราคายังคงได้รับแรงหนุนจากความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในตะวันออกกลาง

โดยราคาน้ำมันดิบ Brent ลดลง 0.3% ที่ระดับ 71.06 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI ลดลง 0.7% ที่ระดับ 61.33 เหรียญ/บาร์เรล


Related
บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com