• สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคค่ำ) ประจำวันที่ 19 เมษายน 2562

    19 เมษายน 2562 | Economic News

· ค่าเงินดอลลาร์ค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับสกุลเงินส่วนใหญ่ในวันนี้ หลังจากแข็งค่าแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ครึ่งในคืนที่ผ่านมา จากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่สดใส ขณะที่ค่าเงินยูโรอ่อนค่าจากตัวเลขภาคอุตสาหกรรมยุโรปที่อ่อนแอ
แม้ตลาดค่าเงินจะเปิดทำการ แต่เนื่องด้วยเป็นวันหยุด “Good Friday” จึงคาดว่าจะมีปริมาณซื้อขายที่ต่ำ

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์อ่อนค่าเล็กน้อยประมาณ 0.1% ในวันนี้ เคลื่อนไหวแถว 97.392 จุด หลังจากเมื่อคืนแข็งค่าไปถึงระดับ 97.485 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของวันที่ 2 เม.ย.

· นักวิเคราะห์จาก Sumitomo Mitsui DS Asset Management ระบุว่า แม้ความเชื่อมั่นของตลาดจะอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง นับตั้งแต่ตัวเลขเศรษฐกิจของจีนประกาศออกมาสดใส และยอดค้าปลีกของสหรัฐฯที่อยู่ในระดับสูง แต่การซื้อขายน่าจะเป็นไปอย่างซบเซา เนื่องจากวันหยุดในช่วงเทศกาล Easter

ด้านค่าเงินแข็งค่าเล็กน้อยประมาณ 0.1% แถว 1.1242 ดอลลาร์/ยูโร หลังจากอ่อนค่าลงทำระดับต่ำสุดที่ 1.1226 ดอลลาร์/ยูโร ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 1 สัปดาห์ครึ่งจากตัวเลขเศรษฐกิจยูโรโซนที่อ่อนแอ

EUR/USD TECHNICAL ANALYSIS



· ในกราฟรายวันจะเห็นได้ถึงการอ่อนค่าลงด้วยอัตรารายวันที่มากสุดในรอบกว่า 4 สัปดาห์ หรือปรับอ่อนค่าลงมา -0.6% เมื่อวานนี้ โดยค่าเงินยูโรกำลังเคลื่อนไหวต่ำกว่าเส้นเทรนขาขึ้นที่เป็นลักษณะของ Morning Star ก่อตัวตั้งแต่ช่วงสิ้นเดือน มี.ค. และค่าเงินยังถูกกดดันจากแนวต้านที่ระดับ 1.1302 ดอลลาร์/ยูโร ขณะที่เส้น RSI ก็เคลื่อนไหวในแดนลบตลอด 24 ช.ม. ที่ผ่านมา บ่งชี้ว่า ค่าเงินยูโรมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงไปถึงแนวรับที่บริเวณ 1.1176 ดอลลาร์/ยูโร หากหลุดลงมา ทิศทางขาลงระยะยาวจากเมื่อปีก่อนก็จะกลับเข้ามาครองตลาดอีกครั้ง
· ทางธนาคาร Barclays ได้ปรับคาดการณ์การขยายตัวของ GDP จีนในปีนี้ขึ้นสู่ระดับ 6.5% จากเดิม 6.2% โดยระบุว่า เศรษฐกิจจีนจะได้รับแรงหนุนที่ “แข็งแกร่งมากขึ้น” จากมาตรกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล รวมถึง การเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนความแข็งแกร่งของภาคการส่งออก

· ส่วนธนาคาร Citi ปรับคาดการณ์การเติบโตของ GDP จีนปีนี้ สู่ระดับ 6.6% จากเดิม 6.2% โดยมีความเชื่อมั่นว่า จีนกับสหรัฐฯจะสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าที่ดีร่วมกันได้ รวมถึงปริมาณอุปสงค์ในประเทศจีนที่แข็งแกร่ง

· ขณะที่ธนาคาร ING ปรับคาดการณ์การขยายตัวของ GDP จีนในปีนี้ขึ้นสู่ระดับ 6.5% จากเดิม 6.3% โดยประเมินว่า เศรษฐกิจจะได้แรงหนุนหลักมาจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการพัฒนาเครือข่าย 5G ซึ่งน่าจะช่วยหนุนให้เศรษฐกิจรักษาอัตราการเติบโตที่ดีไปได้ตลอดปี

· รัฐบาลญี่ปุ่นเรียนเชิญนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้เดินทางมาเยี่ยมเยียนญี่ปุ่น ในวันที่ 25 – 28 พ.ค. นี้ โดยนายทรัมป์จะเข้าเฝ้าจักรพรรดิและจักรพรรดินีแห่งญี่ปุ่นองค์ใหม่ รวมถึงนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นอีกด้วย

· ทางเกาหลีเหนือประกาศจะไม่ยอมให้ความร่วมมือเจรจากับนายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศแห่งสหรัฐฯ อีกต่อไป พร้อมเรียกร้องให้สหรัฐฯเปลี่ยนตัวแทนเจรจา ให้เป็นผู้ที่มีความสุขุมมากกว่านี้ โดยถ้อยแถลงดังกล่าว เกิดขึ้นหลังเกาหลีเหนือได้ประกาศว่าพวกเขากลับมาทดสอบขีปนาวุธอีกครั้ง

ทางด้านสหรัฐฯดูเหมือนจะเพิกเฉยต่อถ้อยแถลงดังกล่าวของเกาหลีเหนือ ส่วนกรณีที่เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธ กระทรวงกลาโหมได้กล่าวว่า มีการทดสอบจริง “แต่ไม่ใช่ขีปนาวุธ”

· สหรัฐฯชนะการฟ้องร้องคดีใน WTO สำหรับจีนมีการกำหนดระดับภาษีสำหรับข้าวสาร, ข้าวสาลี และข้าวโพด ส่งผลกระทบให้สหรัฐฯเข้าถึงตลาดธัญพืชได้อย่างจำกัด

การฟ้องร้องในคดีดังกล่าว เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลโอบามาเมื่อช่วงปลายปี 2016 และกลายมาเป็นชัยชนะครั้งที่ 2 ในการฟ้องร้องคดีของสหรัฐฯในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และยังเกิดขึ้นในขณะที่สหรัฐฯกำลังมีการเจรจาการค้าร่วมกับจีน

· บทวิเคราะห์จาก Bloomberg ระบุว่า เมื่อเดือน มี.ค. ปี 2018 ที่ผ่านมา นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เคยประกาศกร้าวไว้ว่า สงครามการค้ากับจีน สหรัฐฯจะเป็นฝ่ายชนะได้โดยง่าย


นโยบายภาษีที่ทรัมป์ประกาศขึ้นกับจีน แม้จะสามารถกดดันเศรษฐกิจจีนได้จริง แต่ข้อมูลทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่กลับบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจจีนในปี 2018 ชะลอตัวลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ขณะที่ส่วนใหญ่เชื่อว่า นโยบายภาษีของทรัมป์ได้กดดันความเชื่อมั่นและชะลอการลงทุน ซึ่งไม่ใช้เรื่องน่าประหลาดใจ เพราะว่าบรรดาบริษัทต่างคิดว่าการดำเนินกิจกรรมใดๆร่วมกับจีนน่าจะเป็นไปได้อย่างยากลำบาก ขระที่สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้นานาชาติต่างเร่งดำเนินแผนที่จะเปลี่ยนแหล่งการผลิตออกจากประเทศจีน ทำให้ผู้ประกอบการในจีนเองก็มีความระมัดระวังมากขึ้น



แต่ทางสหรัฐฯก็ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าที่พวกเขาก่อขึ้นเองเช่นกัน เพราะว่าการขึ้นภาษีทำให้ราคาสินค้าต่างๆที่ผลิตจากจีนและนำเข้ามายังสหรัฐฯมีราคาที่สูงขึ้น ซึ่งการวิจัยจากหลายสำนักพบว่า สหรัฐฯสูญเสียเม็ดเงินในเศรษฐกิจออกไปหลายหมื่นล้านเหรียญในแต่ละปี

และนั่นยังไม่ได้รวมถึงการตอบโต้จากจีนด้วยการขึ้นภาษีกับสหรัฐฯ แม้สหรัฐฯจะมียอดขาดดุลทางการค้าร่วมกับ แต่สหรัฐฯก็ส่งออกสินค้าสู่ประเทศจีนเป็นมูลค่ากว่า 2 แสนล้านเหรียญต่อปี การที่จีนขึ้นภาษีกับสหรัฐฯ ทำให้เกิดความเสียหายให้กับภาคการเกษตรของสหรัฐฯอย่างรุนแรง โดยเฉพาะการส่งออกเมล็ดถั่วเหลืองที่เป็นสินค้าส่งออกหลักอย่างหนึ่งของสหรัฐฯ


จากกราฟจะเห็นได้ว่าการส่งออกเมล็ดถั่วเหลืองจากสหรัฐฯสู่จีน ได้ปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี แม้ว่าจะเป็นช่วงฤดูกาลที่มีปริมาณเก็บเกี่ยวถั่วเหลืองมากที่สุดก็ตาม

ปัจจัยที่ยกมา ได้กดดันให้สหรัฐฯกลายเป็นฝั่งที่ถูกไล่จนมุม เกิดเป็นการขอสงบศึกทางการค้าเมื่อช่วงปลายปี 2018 ในขณะที่เป้าหมายของการกดดันจีน ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การควบคุมค่าเงิน การบังคับถ่ายทอดเทคโนโลยี และการเข้าถึงตลาดจีน ยังไม่ถูกคลีคลายลงแต่อย่างใด ในขณะที่ การที่จีนตกลงที่จะยอมเข้าซื้อสินค้าจากสหรัฐฯมากขึ้น ก็มากพอที่จะทำให้ทรัมป์มีท่าทีอ่อนข้อลง ดังนั้น ข้อตกลงการค้าฉบับ Final ที่จะเกิดขึ้นระหว่างสหรัฐฯ-จีน อาจกลายเป็นความพ่ายแพ้ของนายทรัมป์เอง


Related
บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com