ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ โดยดัชนีดอลลาร์ปรับตัวขึ้นแตะ 99.08 ขณะที่ค่าเงินยูโรเช้านี้อ่อนค่าลงมา 1.0829 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับ 1.0875 ดอลลาร์/ยูโร และค่าเงินเยนอ่อนค่ามาที่ระดับ 118.06 เยน/ดอลลาร์
สำหรับค่าเงินหยวนปรับแข็งค่าลงมาที่ระดับ 5.5625 ดอลลาร์/หยวน จากระดับ 6.5695 ดอลลาร์/หยวน หลังมีข่าวว่า ธนาคารกลางจีน ดำเนินการแทรกแซงตลาด Offshore เพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินหยวน และมีเป้าหมายที่จะสกัดแรงเก็งกำไรจากค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าอย่างรวดเร็ว ด้วยการซื้อเงินหยวนในตลาดฮ่องกง ส่งผลให้ค่าเงินหยวนเมื่อวานนี้แข็งค่าขึ้น 0.7% เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ และส่งผลให้นักลงทุนส่วนใหญ่มีมุมมองเชิงบวกว่าการดำเนินการดังกล่าวอาจช่วยลดความผันผวนในตลาดการเงินได้
นักวิเคราะห์ ระบุว่า การดำเนินการของจีนเป็นการฟื้นความมั่นใจแก่นักลงทุนว่าทางการจีนจะไม่ปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าลงและสร้างผลกระทบต่อตลาดสินทรัพย์เสี่ยง
เมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผย ข้อมูลการเปิดรับสมัครตำแหน่งงานใหม่ประจำเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาออกมาดีขึ้นเกินคาดเล็กน้อยแตะระดับ 5.43 ล้านตำแหน่ง แต่ดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 80,000 ตำแหน่ง หรือคิดเป็น 1.5%
นาย สแตนลีย์ ฟิชเชอร์ รองประธานเฟด ระบุว่า เฟดจะยังดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ท่ามกลางอัตราว่างงานที่กำลังปรับตัวสู่อัตราปกติ
นาย เจฟฟรี แลกเกอร์ ประธานเฟดสาขาริชมอนด์ กล่าวว่า สภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯและจีนมีความเชื่อมโยงกัน โดยจะเห็นได้จากความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นเมื่อเร็วๆนี้ แต่เขาเชื่อว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจสหรัฐฯจะไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นของจีน ขณะที่กรอบเวลาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะพิจารณาจากข้อมูลเงินเฟ้อไม่ใช่แรงกดดันที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
เช้าวันนี้เวลาประมาณ 09.00น. ตามเวลาไทย นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีกำหนดการจะกล่าวแถลงนโยบายประจำปี (State of the Union) ซึ่งคาดว่า โอบามาจะสรุปผลงานการปฏิบัติหน้าที่และอนาคตของประเทศ ระหว่างช่วงเวลาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีที่เหลืออีก 1 ปี ในสมัยที่ 2 ของเขา
น้ำมันดิบ WTI ปิด -3.1% ที่ระดับ 30.44 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมปี 2003 และเมื่อวานนี้ลงไปทำจุดต่ำสุดใหม่ที่ระดับ 29.92 ดอลลาร์/บาร์เรล หรือระดับต่ำสุดในรอบกว่า 13 ปี
ขณะที่น้ำมันดิบ Brent ปิด -2.2% ที่ระดับ 30.86 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เมษายนปี 2004 หรือในรอบกว่า 12 ปี เนื่องจากตลาดได้รับแรงกดดันจากากรแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์ และความกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานน้ำมันในตลาดโลกที่สูงเกินไป รวมทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่อาจส่งผลให้การบริโภคน้ำมันและพลังงานในจีนซบเซาตาม
เมื่อวานนี้ EIA ปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบครั้งล่าสุด โดยคาดว่า ราคาน้ำมันดิบ WTI จะเคลื่อนไหวเฉลี่ย 38.54 ดอลลาร์/บาร์เรลในปีนี้ และปีหน้าที่ระดับ 47 ดอลลาร์/บาร์เรล และ Brent จะเคลื่อนไหวเฉลี่ยที่ 40.15 ดอลลาร์/บาร์เรลในปีนี้ ขณะที่ในปี 2017 คาด จะอยู่ที่ 50 ดอลลาร์/บาร์เรล